วันที่ 21 พ.ย.67 จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 ที่ผ่านมา ระบุพฤติกรรม 6 ข้อ ตามคำร้องอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่า ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้อง คือนายธีรยุทธ ไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด ได้ลงนามตอบถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
มีรายงานว่า ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ คำร้องของนายธีรยุทธ ซึ่งเป็นการเลื่อนประชุมจากเมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ที่ผ่านมา เนื่องจากตุลาการติดภารกิจ
ทั้งนี้มีรายงานความเคลื่อนไหวในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณาทั้งสิ้น 9 คน ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 5.นายจิรนิติ หะวานนท์ 6.นายนภดล เทพพิทักษ์ 7.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 8.นายอุดม รัฐอมฤต 9.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ
มีรายงานว่า มติที่จะออกมาว่ารับหรือไม่รับคำร้อง ของนายธีรยุทธ ที่จะพิจารณาในวันพรุ่งนี้นั้น ยังไม่นิ่ง เนื่องจากมีตัวแปร และเงื่อนไขเรื่องเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้มีรายงานจากฝ่ายการเมือง ประเมินว่า อาจมีมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้รับคำร้องดังกล่าวเอาไว้พิจารณา แต่ขณะเดียวกันล่าสุด มีรายงานว่ามติที่ออกมามีแนวโน้มว่าเสียงจะสูสี ระหว่างรับหรือไม่รับคำร้อง โดยมีการประเมินจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีมติคดีถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมติออกมา 5 ต่อ 4 เสียงให้นายเศรษฐา ต้องพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 5 เสียงได้แก่ นายปัญญา อุดชาชน ,นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ,นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในจำนวน 5 เสียงข้างมากกลุ่มนี้ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อาจติดภารกิจ เนื่องจากโดยคำสั่งด่วนของนายนครินทร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ให้นายอุดม ไปดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ คือการเข้าร่วมประชุมตุลาการศาลรัฐธรรนูญอาเซียน ในเย็นวันพุธที่ผ่านมา มีกำหนดกลับถึงกรุงเทพฯ ในเย็นวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีนัดวินิจฉัยรับคำร้องของนายธีรยุทธ หรือไม่
ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นควรให้รับคำร้อง ขาดหายไป 1 เสียง ส่งผลเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ 8 เสียง จะออกมาแบบเป็นไปได้ทั้งรับและไม่รับวินิจฉัย
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า เมื่อองค์คณะเหลืออยู่ 8 เสียงนั้น หากมติออกเป็นลักษณะ 4 ต่อ 4 เสียงเท่ากัน ทางออกที่ต้องจับตาคือกรณีนี้ ผู้ที่เป็นประธาน สามารถใช้สิทธิ ลงมติได้อีกครั้งเพื่อชี้ขาดได้