ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ รายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่าประธานาธิบดีไบเดน ได้ยกเลิกข้อจำกัดในการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ในขณะที่ทำเนียบขาวมิได้ยืนยันหรือปฏิเสธข่าว

แต่ทางวลาดิเมียร์ เซเรนสกี เคลมการอนุญาตนี้ โดยให้ข่าวว่าได้รับอนุมัติแล้ว แต่อยากให้กลุ่มประเทศนาโตเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด เพราะมีบางประเทศไม่เห็นด้วยเช่น อิตาลี

ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสเห็นด้วยกับการอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของตน เช่น สตอมชาโดว์ของอังกฤษและฝรั่งเศส

ทางฝ่ายสหรัฐฯ อ้างว่าการอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของตนโจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซีย เพราะรัสเซียเป็นฝ่ายยกระดับของสงครามโดยการนำทหารเกาหลีเหนือเข้ามาช่วยรบ

ทางด้านรัสเซียโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ออกมาตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ว่าจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของยูเครน หากยูเครนใช้อาวุธของชาติทั้ง 3 โจมตีเข้ามาในดินแดนรัสเซีย และจะตอบโต้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้สอดคล้องกับการปรับหลักเกณฑ์ที่รัสเซียได้ปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ นั่นคือรัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ชาติที่ให้อาวุธสนับสนุนยูเครนให้โจมตีเข้ามาในดินแดนรัสเซียไม่ว่าจะเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ายูเครนได้ใช้ขีปนาวุธดังกล่าวโจมตีรัสเซียหรือไม่ และหากจะมีการใช้พิสัยในการยิงคงไม่ถึงมอสโก ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไปประมาณ 500-600 กม. ในขณะที่ขีปนาวุธพิสัย ทำการไกลได้ประมาณ 200-300 กม.ยกเว้นบางรุ่น ทว่าสิ่งที่น่ากังวลคือยูเครนอาจใช้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นคูช หรือพื้นที่อื่นๆในรัศมีทำการของขีปนาวุธ

ซึ่งถ้าเซเรนสกีปฏิบัติการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภัยพิบัติทางกัมมันภาพรังสีต่อรัสเซียอย่างมาก และหากกระแสลมเหนือพัดแรงกัมมันภาพ ก็คงกระจายลงใต้อันจะทำให้ประเทศอื่นๆใต้ลมได้รับอันตรายไปด้วย

ในขณะที่เยอรมนีและอิตาลี ยังคงยืนยันไม่ให้ใช้ขีปนาวุธของตนโจมตีเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย

ทว่าตามรายงานของกระทรวงกลาโหมรัฐเซียยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯ โจมตีเข้าไปในแคว้น Bryansk เมื่อคืนวันอังคารที่แล้ว ทั้งหมด 6 ลูก ถูกทำลาย 5 ลูก อีก 1 ลูกก่อให้เกิดเพลิงไหม้ที่ฐานทางทหารรัสเซีย

ในขณะที่มีข่าวจากมอสโกว่าทางการรัสเซียเตรียมสถานที่หลบภัยนิวเคลียร์ชั่วคราวให้ประชาชนแล้ว ทำให้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-นาโต มากยิ่งขึ้น

อนึ่งลูกชายทรัมป์ได้ออกมาให้ข่าวกับสื่อว่าการกระทำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่จะพ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นการจงใจก่อสงครามในขณะที่พ่อของเขาต้องการสร้างสันติภาพเพื่อรักษาชีวิตคน  อนึ่งไบเดนยังคงมีอำนาจที่จะทำหน้าที่ได้ครบถ้วนตามกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้อนุมัติงบให้ทหารรับจ้างเข้าไปร่วมทำสงครามในยูเครนไปแล้ว หากการอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธโจมตีเข้าไปแผ่นดินรัสเซีย ไปกระตุ้นให้เกิดสงคราม นักกฎหมายบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับโจ ไบเดน มองว่าเป็นการประกาศสงครามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทรัมป์ยังไม่ได้รับตำแหน่งก็ตาม แต่ก็คาดหมายว่าจะเป็นในอีกประมาณ 2 เดือน ดังนั้นเขาอาจดำเนินการต่อสายตรงคุยกับเซเรนสกี และปูตินเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ก็ได้ แต่จะระงับเหตุได้มากน้อยเพียงใด ก็ยากจะคาดคะเน

อีกประการคือ ถ้าเกิดสงครามใหญ่ในขณะที่ทรัมป์ยังไม่ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ไบเดนอาจอนุมัติให้ฝ่ายทหารประกาศกฎอัยการศึกและเลื่อนการสาบานตนของทรัมป์ออกไป โดยตนเองยังคงรักษาการในช่วงสงคราม ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี ทั้งนี้คงต้องพิจารณารัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในการตีความต่อไป

อนึ่งหากจะพิจารณาจากคำประกาศของทรัมป์ที่หาเสียงว่าจะสร้างสันติภาพ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าทรัมป์ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว ทรัมป์จะทำตามที่พูดหรือไม่ หรือจะทำได้หรือไม่ ในสภาพแวดล้อมรอบตัวประธานาธิบดี

          ประการแรก ทรัมป์ได้เลือกคณะผู้บริหารโดยเฉพาะ คณะรัฐมนตรีที่เป็นสายเหยี่ยวอยู่หลายท่าน เช่น รมต.ต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ พีท เฮกเซธ รมต.กลาโหม ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ จอห์น เรตคลิฟฟ์ ผอ.ซีไอเอ และ เอลลิส สเตฟานิก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ บุคคลเหลานี้อาจเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนแผนสร้างสันติภาพของทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จก็ได้

          ประการต่อมาสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่ควบคุมโดยพรรครีพับริกัน จำนวนกว่าครึ่ง รวมของเดโมแครต ต่างก็มีแนวคิดสายเหยี่ยว ซึ่งจะกดดันทรัมป์ให้ตัดสินใจหรือดำเนินนโยบายได้ลำบาก แม้จะใช้อำนาจบริหารก็ตาม ก็มีขอบเขตจำกัด

          ประการสุดท้ายก็คือ แรงกดดันจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนับสนุนรัฐบาลหรือกดดันรัฐบาล ที่เรียกว่า Deep State ที่ทรัมป์มีแผน 2025 ที่จะจัดการกำจัดนั้นก็คงไม่ง่ายที่ทรัมป์จะทำได้ รวมทั้งกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่ทรงอิทธิพลกลุ่มต่างๆ

          นอกจากนี้ทรัมป์ยังต้องดีลกับบุคคลอีก 3 คน ที่ไม่ค่อยฟังสหรัฐฯ เท่าไรแม้สหรัฐฯจะให้การสนับสนุนก็ตาม นั่นคือ เซเรนสกี เนทันยาฮู และไล่ชิงเต๋อ คนที่พูดยากที่สุดคือ เนทันยาฮู โดยที่ผ่านมาไม่ฟังแม้แต่ไบเดน ที่ให้การสนับสนุนอิสราเอลเต็มที่ แม้จะเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ตาม

          ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทรัมป์จะบีบให้เนทันยาฮู ทำตามในขณะที่สภาสูงและสภาล่างเสียงข้างมากสนับสนุนด้านงบประมาณต่ออิสราเอลและอยู่ในการครอบงำของขบวนการล็อบบี้ยิสต์อย่าง AIPAC

          อย่างไรก็ตามถ้าทรัมป์ตั้งใจจริงที่จะรักษาสันติภาพมันก็เป็นสัญญาณที่ดีต่อชาวโลก ที่จะได้อยู่กันอย่างสงบสันติ เพราะสงครามมีแต่การเข่นฆ่าก่อให้เกิดการสูญเสีย

          แต่การจะสร้างสันติภาพได้ต้องสร้างความยุติธรรม หรือความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น มิฉะนั้นก็ยากจะสร้างสันติภาพ

          ดังนั้นสหรัฐฯ หากต้องการกลับมาเป็นผู้นำของโลกอีกครั้ง ก็จำเป็นจะต้องยึดหลักความเป็นธรรม หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมนุษยธรรม โดยเท่าเทียมไม่มีสองมาตรฐานเพียงเท่านี้ก็สามารถจะเป็นที่ยอมรับของประชากรโลก