วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลระบุว่าประชาชนจะได้รับเงินก่อนตรุษจีน 2568 หรือวันที่ 29 มกราคมปีหน้า ซึ่งใกล้กับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น( อบจ. )ทั่วประเทศ โดยจะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของ กกต. 

นายนิพนธ์  กล่าวถึง การแจกเงินนี้ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงแค่การลูบหน้าปะจมูกหรือทำแบบไฟไหม้ฟาง“เท่านั้น เพราะแม้การแจกเงินสดอาจสร้างความสุขชั่วคราวให้ประชาชนได้ แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถติดตามข้อมูลการใช้จ่ายได้เหมือนที่เคยวางแผนไว้ในรูปแบบ Digital Wallet ซึ่งได้ล้มเหลวไปแล้ว พายุหมุนทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามวาดภาพนั้น ได้เกิดขึ้นจริงหรือยัง หรือเป็นแค่โฆษณาเพื่อสร้างคะแนนนิยม เพราะจนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่าผลกระทบเชิงบวกที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจคืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้จำนวนมหาศาลที่กู้มาแจก
   
นายนิพนธ์ ยังชี้ให้เห็นว่า การแจกเงินในช่วงตรุษจีนแบบนี้ แทนที่จะเป็นนโยบายเพื่อช่วยผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นนโยบายที่มุ่งสร้างอานิสงส์ทางการเมือง เพราะอีกเพียงไม่กี่วันก็ถึงการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้สมัครในนามพรรครัฐบาลหรือมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลย่อมได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน คู่แข่งกลับไม่มีทรัพยากรในระดับเดียวกันที่จะสร้างความได้เปรียบเช่นนี้

นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมุ่งสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดผลผลิต การจ้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน โดยเฉพาะการลงทุนด้านผลิตคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิตอล AI มากกว่าการแจกเงินที่สร้างหนี้และไม่มีผลลัพธ์ในระยะยาว พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนจับตามองว่า รัฐบาลจะจัดการกับหนี้สินที่กู้มาผลาญอย่างไร และเตือนว่าอย่าหลงเชื่อกับ ความสุขระยะสั้น ที่มาพร้อมกับต้นทุนมหาศาล ประชาชนต้องได้คำตอบชัดเจนว่า เงินนี้แจกเพื่อใคร เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนจริง ๆ หรือเพื่อคะแนนนิยมและความอยู่รอดทางการเมืองของรัฐบาลและพวกพ้อง