"สุริยะ" เผยคุย "ทีมกฎหมาย พท." ปมร้อง "ทักษิณ" ถือ 2 สัญชาติ เชื่อไม่น่าห่วง ไม่รู้ "ยิ่งลักษณ์" จ่อกลับไทย  "รมว.ต่างประเทศ" เผย "ยิ่งลักษณ์" ยังไม่ประสานกลับไทย ไม่รู่ "ทักษิณ" ถือสัญชาติอื่น ด้าน ธนกร เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.ประเทศต้องเดินหน้าต่อ "ศาลรธน." ยึดตามหลักกฎหมายทุกคดี ขออย่าคาดเดาล่วงหน้า ขณะที่ 'ผบ.ทร.' ส่ง 'จนท.อุทกศาสตร์-พระธรรมนูญ' ร่วมวง 'เจทีซี' เจรจา 'กัมพูชา' พื้นที่อ้างสิทธิทางทะเล ชี้ต้องอาศัย 'นักเทคนิค' ควบคู่ 'นักกฎหมาย'

 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีจะมีการร้องเรียน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง อบจ. อุดรราชธานี เนื่องจากนายทักษิณ ถือ 2 สัญชาติ จึงไม่มีสิทธิ์ช่วยหาเสียง ว่า ได้มีการพูดคุยกับทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยแล้ว ซึ่งดูจากข้อกฎหมายคิดว่าไม่น่ามีส่วนไหนที่น่าเป็นห่วง  

 เมื่อถามถึง กรณีกระแสข่าวการเดินทางกลับประเทศไทยของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ปีหน้า นายสุริยะ กล่าวว่า ตอนนี้ตนยังไม่ทราบข่าวเรื่องนี้ 
 
ด้าน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทยช่วงสงกรานต์ปีหน้า มีการประสานมาหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ไม่มี ขณะที่นายกฯ ก็ไม่ได้ปรารภถึงเรื่องดังกล่าว 
 
เมื่อถามถึง กรณีนายทักษิณ ถือสัญชาติอื่นนอกจากสัญชาติไทย นายมาริษ ระบุสั้น ๆ เพียงว่า ไม่ทราบ
 
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ  สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าว ถึงหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์คดีสำคัญทางการเมืองในวันที่ 22 พ.ย.นี้อาจทำให้ประเทศไทยหยุดชะงัก ว่า ตนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในทุกคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยนั้น พิจารณาอย่างรอบคอบ ยึดตามหลักกฏหมายข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริง ตนจึงมั่นใจ ไม่ว่าผลวินิจฉัยผ่านมากี่คดีสำคัญ ประเทศไทยก็ต้องเดินหน้าต่อไปตามครรลองประชาธิปไตย  จึงขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดากันไปล่วงหน้า จนอาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่น และจะกลายเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลด้วย ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าจะวินิจฉัยออกมาในรูปไหนทุกฝ่ายก็ต้องน้อมรับ

 ทั้งนี้ ตนขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ความยากจน ปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย รวมถึงปัญหายาเสพติดที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยต้องให้มีตัวชี้วัด หรือ KPI ออกมาวัดผล งานเป็นรายกระทรวง  เร่งสร้างผลงานในช่วงนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ก่อนที่นายกฯ จะแถลงผลงานในรอบ 100 วันของรัฐบาลในช่วงเดือนธ.ค.นี้ 

 เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมา ทั้งแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร เรื่องการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อจะเป็นของขวัญปีใหม่นั้น มองว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนและเกษตรกรยิ้มได้และมีความสุขในช่วงปีใหม่นี้ นายธนกร กล่าว
 ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44 กับกระแสสังคมอย่างไรบ้าง ว่า ตนเคารพความคิดของทุกท่าน เพราะทุกคนล้วนมีความเป็นห่วงกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเกษียณฯ ไปนานเท่าไหร่แล้วก็ตาม เพราะอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือก็อยากให้กองทัพเรือเดินหน้าไปได้ และมีความต่อเนื่องในการพัฒนาในทุกด้าน

 พร้อมย้ำว่ากองทัพเรือมีหน้าที่ดูแลพื้นที่และปัจจุบันก็ดูแลเส้นเขตแดนทางทะเลที่ประเทศไทยประกาศ ซึ่งเราดูแลได้อย่างเรียบร้อยและไม่มีความขัดแย้งเส้นเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

 "แต่เมื่อมีกระแสสังคมถึง MOU 44 กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานทางเทคนิคที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล คือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เตรียมจัดงานเสวนาในเรื่องนี้ ในเรื่องเส้นเขตแดนในทะเลและข้อตกลง-ข้อขัดแย้งต่างๆ วันที่ 3 ธันวาคม นี้ ที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับฟังได้ อีกทั้งแบ่งวงเสวนาให้ความรู้เรื่องการเจรจาข้อตกลงต่างๆอีกด้วย เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ว่าการเจรจาตกลงมีรูปแบบใดบ้าง รวมถึงกระบวนการเข้าสู่ศาลโลกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางทะเล เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ" ผบ.ทร. กล่าว

 ส่วนความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) ที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ได้ระบุว่าจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุม ที่มีกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ร่วมด้วยนั้น ผบ.ทร. กล่าวย้ำว่า ถ้า นายภูมิธรรม ร้องขอมาก็ยินดีสนับสนุน เพราะเรื่องเขตแดนทางทะเล กองทัพเรือก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้เช่นเดียว ตามที่จะมีการจัดเสวนาดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ จะมีความรู้ในเรื่องทางเทคนิค แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายก็จะเป็นสำนักพระธรรมนูญ กองทัพเรือ อยู่ที่จะมีการเลือกเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคแบบใด เข้าไปร่วมเจทีซี
 
เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงเรื่องความเป็นอิสระของคณะกรรมการเจทีซี ที่จะไม่ถูกครอบงำจากบุคคลใดหรือไม่ ผบ.ทร. กล่าวว่า อยู่ที่การอธิบาย หรือความต้องการในกระบวนการทำงาน ในเรื่องทางกฎหมายและเทคนิค เพราะในบางส่วนอาจไม่เชี่ยวชาญเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็จะมีช่องให้เดิน ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาตราใดมาใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้ กรณีที่มีการเจรจาเกิดขึ้นจะต้องใช้กฎข้อใดหรือต้องอ้างอนุสัญญาใด