แต่งตั้งนายพลสีกากี 41 ตำแหน่ง ไร้การเมืองแทรก ’สยาม‘ ม้ามืดนั่งนครบาล ’ไตรรงค์‘ คุมไซเบอร์
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2567 โดยวาระสำคัญ คือวาระที่ 4 เรื่องที่ 4 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ วาระประจำปี 2567 ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) เป็นการใช้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เป็นครั้งแรก
นายกรัฐมนตรี กล่าวเริ่มต้นการประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจในวันนี้มีเรื่องที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง ตามกรอบ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ทั้งมีเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบ การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระดับผู้บัญชาการขึ้นไปที่จำเป็นต้องได้บุคลากรที่สามารถบริหารจัดการให้ตำรวจในรับผิดชอบตอบสนองต่อการบริการประชาชน และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ตามกรอบการพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงขอให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ ตามระเบียบกฎหมายเพื่อให้การบริหารงานคนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ราชการเป็นสำคัญ
โดยก่อนประชุม ก.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. นำบัญชีรายชื่อที่ผ่านคณะกรรมการพิจารณารายชื่อตำรวจ ที่มีการประชุมวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา หารือนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวว่า ก.ตร.ปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายเดิมตำแหน่ง ผบช. ให้ผู้ที่ครองตำแหน่ง 2 ปีขึ้นเป็น ผบช. ปรับเป็นผู้ที่ครองตำแหน่ง 3 ปี ยกเว้น พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 (นรต.41) สายของ ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขึ้นเป็น ผบช.และบอร์ดกลั่นกรองเสนอปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ผบช.หลักหลายตำแหน่ง
สำหรับตำแหน่งว่างระดับรอง ผบ.ตร. 4 ตำแหน่ง, ผู้ช่วย ผบ.ตร. 7 ตำแหน่ง ดังนี้
ระดับรอง ผบ.ตร.เป็นการพิจารณาแต่งตั้งเรียงตามลำดับอาวุโส โดยจะเลื่อน พล.ต.ท. ประจวบ วงศ์สุข, พล.ต.ท. นิรันดร เหลื่อมศรี, พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง และ พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร.
ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นการพิจารณาแต่งตั้งเรียงตามลำดับอาวุโส โดยจะเลื่อน พล.ต.ท.ธนพล ศรีโสภา จตร. (หัวหน้าจเรตำรวจ), พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ท.อภิชาติ เพชรประสิทธิ์ ผบช.ส., พล.ต.ท.กฤษฎา สุรเชษฐพงศ์ ผบช.สกบ., พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.2 และ พล.ต.ท. สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ภ.4 ขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร.
ทั้งนี้ ระดับ ผบช. พิจารณาแต่งตั้งจากผู้มีอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของตำแหน่งที่ว่าง คิดเป็น 7 ตำแหน่ง ได้แก่
1. พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.6
2. พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม.
3. พล.ต.ต.วราวุธ สกลธนารักษ์ รอง ผบช.สตส.
4. พล.ต.ต.ฉัตรชัย สุรเชษฐพงษ์ รอง ผบช.ภ.2
5. พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์ รอง ผบช.ภ.7
6. พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.5
7. พล.ต.ต.สุรจิต ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2
มีรายงานว่า การประชุม ก.ตร. ช่วงแรกพิจารณาระดับ รอง ผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์กฏหมายใหม่ยึดตามลำดับอาวุโส แต่พอมาถึงระดับ ผบช. ได้มีการพิจารณาไล่เลียงตำแหน่งโดยบอร์ดกลั่นกรองชี้แจงกฏเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายเดิมตำแหน่ง ผบช. ให้ผู้ที่ครองตำแหน่ง 2 ปีขึ้นเป็น ผบช. ปรับเป็นผู้ที่ครองตำแหน่ง 3 ปี ยกเว้น พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี รอง ผบช.ภ.5 นรต.41 สายตรง ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ขยับขึ้นเป็น ผบช. เสนอปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ผบช.หลักหลายตำแหน่ง ทำให้เกิดการวิจารณ์เป็นวงกว้างของ ก.ตร.เกี่ยวการแต่งตั้งรองผบช.นอกจากกลุ่มอาวุโส เป็นกลุ่มความรู้ ความสามารถที่มีชื่อข้ามคนอื่นขึ้นมา ก.ตร.บางคนเสนอให้เลื่อนการประชุม ก.ตร.ออกไปก่อน แต่ ก.ตร.มีมติประชุมต่อ จนกระทั่งเวลา 17.00 น. มีการพักเบรกการประชุมเป็นเวลา 30 นาที
ในเวลา 18.35 น. เสร็จสิ้นการประชุม นางสาวแพทองธาร ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ส่วน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่า การจัดทำบัญชีนายพลเป็นไปอย่างเรียบร้อยหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ไม่ได้ตอบคำถามแต่ทำสัญลักษณ์มือ ยกนิ้วโป้งให้เท่านั้น
ด้าน พล.ต.ท. อนุชา รมยะนันทน์ เลขานุการ ก.ตร. กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีการพิจารณานายตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร. จนไปถึง ผบช. รวมทั้งหมด 41 ตำแหน่ง ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อระเบียบและวิธีปฏิบัติที่ยึดระดับความอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยที่ประชุมมีการหยิบยกรายชื่อตัวบุคคลทุกตำแหน่งมาพิจารณาอย่างทั่วถึง เชื่อได้ว่าหลังจบการประชุมบุคคลที่ได้รับการพิจารณาแต่ละตำแหน่งจะมีความเหมาะสม
ส่วนที่มีกระแสข่าวระบุว่า ในที่ประชุมฯมีการถกเถียงเรื่องการครองตำแหน่งอายุราชการที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง พล.ต.ท. อนุชา กล่าวยอมรับว่า ในที่ประชุมฯนำรูปแบบดังกล่าวมาพิจารณาจริง แต่ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิผู้มีอายุราชการเพียง 2, 3 และ 4 ปี แต่เป็นการพิจารณาทุกราย ทุกตำแหน่งเป็นไปด้วยความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าให้นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นใดรุ่นหนึ่งมาดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษ รวมทั้งกระแสที่ว่าจะคัดเลือกเฉพาะเพื่อน นรต. เดียวกับ ผบ.ตร.
พล.ต.ท.อนุชา กล่าวถึงการใช้เวลาพิจารณาวาระนี้นานกว่า 4 ชั่วโมงเนื่องจาก ก.ตร.ทุกท่านต้องการพิจารณาว่าคุณสมบัติแต่ละรายเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ ส่วนนายกฯ ในฐานะประธานได้นั่งควบคุมการประชุมตลอดเวลาจนแล้วเสร็จ พร้อมเปิดโอกาสให้คณะกรรมการทุกท่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีข้อท้วงติง หรือสั่งการเรื่องใดเป็นพิเศษ
ประเด็นที่ว่าการแต่งตั้งนายพลครั้งนี้มีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ พล.ต.ท.อนุชา ยืนยันว่าที่ประชุมฯ ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่หากบุคคลใดที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมการฟ้องร้องเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้
เมื่อถามว่าการแต่งตั้งครั้งนี้จะทำให้หลายคนผิดหวังจนเสียน้ำตาหรือไม่ พล.ต.ท. อนุชา กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นรายชื่อบุคคลใดมาก่อน ตนเองมารับรู้ในฐานะเลขาฯ ในที่ประชุมเท่านั้น
สำหรับตำแหน่งที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ประกอบด้วย ผบช.น. คาดว่าเป็น พล.ต.ท. สยาม บุญสม. นรต. รุ่น 46 จาก จเรตำรวจ ส่วน พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย จตร. นรต.รุ่น 48 ที่มีโผก่อนหน้านี้ โยกไป ผบช.ปส. พล.ต.ท.สุรพล เปรมบุตร ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. (นรต.41) โยกมา ผบช.ภ.1 พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผบช.สกพ. (นรต.41) โยกมา ผบช.ภ.2 พล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผบช.ศ. โยกไป ผบช.ภ.3 พล.ต.ต. ฉัตรชัย สุรเชษฐพงษ์ รอง ผบช.ภ.2 (นรต.42) เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.ภ.4 พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5 (ที่เดิม) พล.ต.ท.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผบช.ภ.6 (ที่เดิม) พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.ภ.7 (ที่เดิม) พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 (ที่เดิม) พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9 (ที่เดิม)
ส่วนตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ พล.ต.ต. ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม. (นรต.41) เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.สตม., พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ. (นรต.46) โยกมาเป็น ผบช.สอท., พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์ รอง ผบช.ภ.7 เลื่อนขึ้นเป็น ผบช.สพฐ., พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผบช.สง.ผบ.ตร. (นรต.47) โยกมาเป็น ผบช.ศ., พล.ต.ท. เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผบช.รร.นรต. (ที่เดิม), พล.ต.ท. อาชยน ไกรทอง ผบช.สนง.ผบ.ตร. (นรต.46) โยกมาเป็น ผบช.สกพ., พล.ต.ท. อุดร ยอมเจริญ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. โยกมาเป็น ผบช.ส. พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ก.6 (นรต.41) เลื่อนขึ้นเป็น จตร. พล.ต.ท.พิสิฐ ตันประเสริฐ ผบช.สงป. โยกเป็น ผบช.สกบ. พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สกพ. เลื่อนขึ้นเป็น จตร. และ พล.ต.ท. ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผบช.ทท. (ที่เดิม)