สสว.วางกรอบทิศทางแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ปี 2569 เร่งบูรณาการทุกหน่วยงานภาครัฐร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ของประเทศ มุ่งเน้น 5 ประเด็นสำคัญ ทั้งการปรับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม การมีธรรมาภิบาล และเพิ่มมูลค่าธุรกิจด้วยSoft Power โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดัน SME ไทย ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  รักษาการ ผอ.สสว. เปิดเผยว่า สสว. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี พ.ศ.2569 ขึ้นในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกถึงกรอบทิศทางการส่งเสริม SME ในปี 2569 ให้กับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงิน ฯลฯ ที่มีภารกิจด้านการส่งเสริม SME ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อบรรจุในแผนปฏิบัติการและงบประมาณด้านการส่งเสริม SME ประจำปี 2569 ซึ่งจะทำให้การส่งเสริม SME ของประเทศ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถเชื่อมโยง ส่งต่อความช่วยเหลือ และลดความซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

“สสว. มีภารกิจหลักเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมSME ของประเทศ และทำหน้าที่เป็น System Integrator ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี (Action Plan) เป็นเครื่องมือ สืบเนื่องจากปัจจุบัน SME ต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลากหลายด้าน ตั้งแต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของ SME ในทุกมิติ สสว.จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริม SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาวปณิตา กล่าว

สำหรับแผนปฏิบัติการส่งเสริมSME ประจำปี 2569 จะให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การก้าวทันการปรับเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนเพื่อลดการสร้างผลกระทบทางลบ และสร้างผลกระทบทางบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมภายใต้แนวทางESG (Environment, Social and Governance) และการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการด้วย Soft Power โดยกรอบแผนงานจะสอดคล้องกับแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อบูรณาการให้การดำเนินงานส่งเสริม SME ของทุกหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแผนงานหลักที่เน้นในปี 2569 ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital ransformation): มุ่งส่งเสริมให้ SME ใช้เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI)และข้อมูล (Data-driven) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งDigital Consultant Center ที่ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัล โดยมีการสนับสนุนเงินทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม 2. ผลักดันให้ SME เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment/Green) มีการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ (Green Mindset) รวมถึงการส่งเสริมโมเดลธุรกิจสีเขียว เช่น การพัฒนา Green Innovators ที่ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และการสนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานธุรกิจสีเขียว

3.การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility): มุ่งส่งเสริมให้ SME ตระหนักถึงบทบาทในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ผ่านการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และ Inclusive Business (IB) การเชื่อมโยงเครือข่าย การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคม ให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างธุรกิจได้4.การยกระดับการดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล (Good Governance): มุ่งสนับสนุนให้ SME ดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ โปร่งใสตรวจสอบได้ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค คู่ค้า ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพธุรกิจในระยะยาว และ 5. การเพิ่มมูลค่าและโอกาสทางธุรกิจด้วย (Soft Power) : สนับสนุนให้ SME สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการผ่านการใช้ทุนทางวัฒนธรรม และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Soft Power ให้เติบโต ส่งเสริมการสร้างแบรนด์ท้องถิ่น (Local Branding) การเชื่อมโยงกับ Influencer และกิจกรรมการตลาดเพื่อขยายโอกาสในตลาดโลก

โดยแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEปี 2569 จะขับเคลื่อนผ่าน 16 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.พัฒนาธุรกิจระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง 2.ยกระดับธุรกิจที่มุ่งเติบโตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน 3.ยกระดับธุรกิจสู่การแข่งขันระดับโลก 4.ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว 5.ช่วยเหลือธุรกิจยังชีพให้สามารถอยู่รอดได้ 6.สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ 7.ส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ 8.สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น 9.ส่งเสริมการเข้าสู่สากล 10.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 11.สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 12.สร้างความพร้อมของแรงงานและบุคลากร 13.สนับสนุนศูนย์กลางในการให้ข้อมูล องค์ความรู้และบริการ 14.ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ 15.พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย และ 16.พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในอุตสหกรรม Soft Power ในการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ดี การประชุมวันนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 80 หน่วยงาน ที่จะเป็นกลไกการบูรณาการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ โดยการจัดทำข้อเสนอแผนงาน/โครงการ และงบประมาณประจำปี 2569 ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพัฒนาและริเริ่มโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ สสว.จะเปิดรับข้อเสนอโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากลั่นกรองและวิเคราะห์โครงการ เพื่อบรรจุภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME สำหรับจัดทำคำของบประมาณประจำปี 2569 ต่อไป 

#สสว #เอสเอ็มอี #ข่าววันนี้ #ธุรกิจสีเขียว #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์