Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.55 บาทต่อดอลลาร์

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways Down หรือแข็งค่าขึ้นบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.49-34.61 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังร้อนแรงและเสี่ยงที่จะบานปลาย กลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรชาติตะวันตก อย่าง NATO รวมถึงมีความเสี่ยงที่รัสเซียอาจพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้ (อาทิ Tactical Nuclear Weapons) หลังล่าสุดสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ยูเครนใช้ระบบอาวุธ ATACMS (MGM-140 Army Tactical Missile System) โจมตีเป้าหมายในดินแดนรัสเซีย เฉพาะในพื้นที่ Kursk Oblast เท่านั้น อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า (Importers) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากทั้งความกังวลปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการระงับการผลิตน้ำมันดิบจากบ่อน้ำมันของนอร์เวย์ 


แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินอาจถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +4.9% ตามความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า Nvidia อาจรายงานผลประกอบการและคาดการณ์รายได้ที่แข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.04% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.40% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อ -0.45% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น เสี่ยงบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ทว่าความกังวลดังกล่าวยังพอช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นที่เกี่ยวกับอาวุธสงครามสามารถปรับตัวขึ้นได้ อาทิ Rheinmetall +3.9% และ BAE Systems +1.3% 

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมแกว่งตัวระหว่างโซน 4.30%-4.40% โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 59% ในการลดดอกเบี้ย 25bps ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ อนึ่ง เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือครองบอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เมื่อประเมินจากผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นหรือลง +/-50bps 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ที่ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยสะสมมาอย่างต่อเนื่องในธีม Trump Trades ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 155 เยนต่อดอลลาร์ จากที่แกว่งตัวแถวโซน 153.50 เยนต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.1-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงขึ้น รวมถึงจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,630-2,640 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนตุลาคม ของอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอลงชัดเจน ก็อาจเพิ่มโอกาสที่ BOE จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็สามารถกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ในระยะสั้น

ส่วนฝั่งเอเชีย เราประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ซึ่งเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามาพอสมควรนับตั้งแต่ช่วงก่อนรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียก็ยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน จนทำให้ BI มีความจำเป็นต้องเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลัง ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้   

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ Nvidia ซึ่งจะรับรู้ในช่วง After Hour ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงในช่วงนี้


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมั่นใจต่อ Call Short-term USDTHB peak ของเราเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังเงินบาทเริ่มชะลอการอ่อนค่าลงและมีโอกาสที่เงินบาทอาจสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นและเป็นสินทรัพย์ที่ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือครองในช่วงตลาดเผชิญความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ แม้เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยบ้าง แต่เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD เพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดในช่วงระยะสั้นนี้เช่นกัน (หากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนแนวรับสำคัญ ก็อาจเร่งการปิดสถานะ Short THB ได้) นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติก็เริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงซื้อเงินดอลลาร์ (Buy on Dip) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ที่อาจพอกดดันเงินบาทและชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ แต่หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อาจเปิดโอกาสที่เงินบาทจะสามารถแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึงช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.65 บาท/ดอลลาร์

#บาทแข็ง #กรุงไทย #ข่าววันนี้ #เงินตรา #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์