เมื่อ 118 ปีล่วงมาแล้ว ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรืออย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี กับได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ ความว่า

“วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ.125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า”

กองทัพเรือจึงได้ถือเอาวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทหารเรือไทย ตามแบบอารยประเทศ ส่งผลให้มีการพัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้าเป็นกองทัพเรือที่ทันสมัย เข้มแข็ง และมีเกียรติภูมิ

ย้อนกลับไปในอดีตก่อนที่จะมีการก่อตั้งกองทัพเรือขึ้นในสยาม ยังมิได้มีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มมีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก

เมื่อครั้งเริ่มแรกตั้งกรมทหารเรือนั้น กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ จำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อาทิ ผู้บังคับการเรือและผู้บัญชาการป้อมต่างๆ ต่อมาภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ

ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ และกลับมารับราชการในกรมทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือจัดการฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกที่บริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ สำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวน หรือฝ่ายช่างกลและเดินเรือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 ได้ตั้งโรงเรียนนายสิบขึ้น และในปี พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2442 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น สถานที่ตั้งโรงเรียนนายเรือครั้งแรกอยู่ที่วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) มีนาวาโทไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชวังเดิมนี้ ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิทักษ์รักษา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ การปฏิบัติภารกิจการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนซึ่งถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญยิ่ง

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 นี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานและนโยบายให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์กองทัพเรือที่ครอบคลุมภารกิจของกองทัพเรือทั้ง 5 ด้านได้แก่ การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การเตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักร การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การสนับสนุนการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ การสนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชนรวมถึงจะดูแลสิทธิประโยชน์สวัสดิการกำลังพลทุกระดับเพื่อให้มีขวัญกำลังใจที่จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดคำขวัญประจำปี 2568 ว่า "เทิดทูนสถาบัน ป้องกันรัฐ พัฒนาชาติ ราษฎร์ศรัทธา Monarachy Country Government People" รวมทั้งกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งความปลอดภัยของกองทัพเรือหรือ Navy Savety 2025 ในทุกๆ ด้าน เพื่อนำไปสู่การเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ รวมเป็นหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีประสิทธิภาพทำให้ทะเลไทยปลอดภัยและมีความมั่นคงตลอดไป