เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พ.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2567  โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.การคลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ นางสาวจิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายดนุชา พิชนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

 

ทั้งนี้นายกฯ กล่าวก่อนการประชุม ว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์

ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67  ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ซึ่งตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ขยับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส1 และ 2 ที่ขยายตัว ที่ร้อยละ 1.6 และ 2.2 ตามลำดับ เมื่อรวมทั้งสามไตรมาสเศรษฐกิจไทยโตอยู่ที่ร้อยละ 2.3  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยการอุปโภคภาครัฐบาล การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยวและภาคการก่อสร้าง ซึ่งตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จึงเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวดีต่อเนื่อ

 

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะมีศักยภาพที่เติบโตมากกว่านี้จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ขึ้น เพื่อผลักดันนโยบายตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แถลงต่อรัฐสภาให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งกำหนดแนวทาง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว และในระยะสั้น โดยรัฐบาลได้เพิ่มรายได้ และบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการผ่านการอุดหนุนสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มคนพิการ ดังนั้นในระยะต่อไปจึงควรพิจารณาเพื่อช่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องภาระหนี้สินครัวเรือน แม้ว่ากลางปี 2567 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับตัวลดลงเหลือร้อย 89.6 จากร้อยละ 90.7 ของไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยในแต่ละเดือนประชาชนมีภาระในการชำระหนี้สูง และมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และSME  ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกแบบมาตรการการแก้ปัญหาหนี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของประชาชน ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลให้ความสำคัญกับมาตรการเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการชุดนี้จะร่วมกันกำหนดและออกแบบนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว