วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ฐานะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกมธ. ว่า ทราบว่าได้นัดลงมติเพื่อตัดสินในประเด็นความเห็นต่าง ระหว่างสส. และสว. ในเกณฑ์การผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ในจุดยืนของ สว. ในวินาทีนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด และยังสนับสนุนเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ
อย่างไรก็ดีทราบว่าในจุดยืนของ กมธ.ฝั่ง สส. ยังต้องการรให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ส่วนข้อเสนอที่เป็นทางเลือกที่สาม คือ เสียงข้างมากชั้นครึ่งที่เสนอโดยนายนิกร จำนง กมธ.และเลขานุการ กมธ. นั้น เป็นข้อเสนอในมุมเดียว
“หากนัดโหวตกัน เชื่อว่า กมธ. ฝั่ง สส. และ ฝั่งสว. เชื่อว่าจะยืนยันในจุดยืนของตนเอง ดังนั้น กมธ.สว.จะยืนยันในหลักการเกณฑ์ผ่านประชามติสองชั้นเช่นเดียวกัน จะไม่มีทางเลือกที่สาม ทั้งนี้ กมธ.ฝั่งสว. พร้อมเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงครบทั้ง 14 คน” นายพิสิษฐ์ กล่าว
นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่าตนทราบว่า เมื่อในชั้นกมธ.พิจารรณาเสร็จแล้ว ต้องให้แต่ละสภา ลงมติว่าจะเห็นชอบกับกมธ.ร่วมหรือไม่ เชื่อแน่ว่า สส. ต้องโหวตยืนยันตามจุดยืนเดิม ส่วน สว. ตนเชื่อว่าจะยืนยันแบบเดิมเช่นเดียวกัน เมื่อสองสภาเห็นไม่ตรงกันต้องพักร่างกฎหมายไว้ 180 วัน
“ระหว่างที่พักร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่จำเป็นต้องพักการออกเสียงประชามติใดๆ หากรัฐบาลจะเดินหน้าออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญในช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้นปี2568 ยังสามารถทำได้ โดยใช้กฎหมายประชามติฉบับเดิมได้ และไม่มีข้อจำกัดใดๆ” นายพิสิษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าตามรัฐธรรมนูญยังให้สิทธิสส. โหวตตัดสินในขั้นสุดท้าย นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะหน้าที่สว. คือการยับยั้งกฎหมาย ไม่สามารถคัดค้านใดๆ ได้ หากสส.ยืนยันและต้องนำมาใช้ ต้องเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ดีในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียง สว. ตัดสิน 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ดังนั้นการจะรับหลักการหรือไม่นั้นต้องพิจารณาในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อใด และขณะนี้ยังไม่มีการประสานมาจากฝั่งสภาฯ ที่จะนัดหารือเรื่องการวางกรอบการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ