"คลัง" เตรียมชงบอร์ดนโยบายฯ เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็กเกจใหญ่ 19 พ.ย.นี้ เดินหน้า “แก้หนี้-อุ้มอสังหาฯ-มาตรการภาษี-ดิจิทัลวอลเล็ต” ปูพรมกระตุ้นตั้งแต่ปลายปีนี้- จนถึปี 2568 ขณะที่ "โพล"เผยผลสำรวจ "ปชช." ยอมรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาล "นายกฯอิ๊งค์" มีแนวโน้มดีขึ้น 58.7% ระบุมาตรการแจก "เงินดิจิทัล" 1 หมื่นเฟส 2 แก้หนี้ครัวเรือนได้เหมาะสมสุด
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.67 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 19 พ.ย.นี้ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นแพ็กเกจใหญ่ ซึ่งจะมีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นที่จะดำเนินการตลอดปี 2568 ด้วยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่รับผิดชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งในที่ประชุมจะมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้งหมด โดยอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตกผลึกชัดเจน เพราะมาตรการมีจำนวนมาก แต่เชื่อว่าต้องมีการหารืออย่างต่อเนื่อง ก่อนจะสรุปรายละเอียดของแต่ละมาตรการว่าจะทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร และช่วงเวลาไหนจะใช้มาตรการอะไร
ทั้งนี้ รัฐบาลมองว่าแม้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2567 จะขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่รัฐบาลไม่หยุดแค่นี้ ไม่ใช่ว่าพอใจหรือไม่พอใจ โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังมีกลุ่มที่มีปัญหา เช่น สินเชื่อรถกระบะ ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการสินเชื่อซื้อ-แต่ง และมาตรการสินเชื่อซ่อม-สร้าง วงเงิน 55,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนมาตรการสินเชื่อแฮปปี้โฮมแฮปปี้ไลฟ์ที่ประชาชนตอบรับดีและเพิ่งหมดอายุไป เนื่องจากมองว่าดีมานด์ยังมี แต่กำลังซื้อของคนไม่ค่อยมี รัฐบาลจึงเร่งเข้ามาให้การช่วยเหลือในส่วนนี้ ส่วนมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้ ยังไม่ได้มีการหารือในที่ประชุม ครม.ว่าจะต่ออายุมาตรการหรือไม่
สำหรับกระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการไว้จำนวนมาก โดยภาพใหญ่ๆจะมีโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยอมรับว่า ในขั้นตอน และวิธีการดำเนินการสามารถทำได้ไม่ยาก กลุ่มนี้จะไม่ซ้ำกับกลุ่มเปราะบางที่ได้ไปก่อนหน้านี้ กลุ่มนี้จะไม่มากคิดว่าจะไม่กี่ล้านคน ทำให้ใช้วงเงินไม่มากนัก ส่วนการใส่เงินที่เหมาะสมตามรูปแบบ โปรแกรมและแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนจะมีช่องทางในการติดต่อกับรัฐอย่างถาวรผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้จะต้องค่อยๆทำต่อไปไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาช่องทางแอปทางรัฐ หรือแอปพลิเคชันอื่นก็คงพิจารณาอีกครั้ง
ขณะเดียวกันมาตรการภาษี มาตรการแก้หนี้เป็นส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งรัฐบาลพยายามสร้างกลไกเพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มที่ยังมีโอกาสกลับมายืนได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเช่น การลดอัตราดอกเบี้ย ซอฟต์โลน เป็นต้น ยอมรับว่ามีหลายมาตรการมาก แต่ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ เพราะบางมาตรการยังไม่สะเด็ดน้ำ ต้องไปหารือกันต่อ โดยการประชุมไม่ใช่แค่กระทรวงการคลังเท่านั้นที่เตรียมมาตรการมา แต่ยังมีกระทรวงอื่นๆที่เตรียมมาเหมือนกันก็ต้องเอามาวางและคุยกันเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เป็นไปได้สูงว่าอาจต้องแบ่งการกระตุ้นออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมว่าจะทำอะไรบ้าง
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า แหล่งเงินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดมาจากหลายส่วน ไม่ใช่แค่งบประมาณเพียงแหล่งเดียว เพราะมีมาตรการที่ต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายมาตรการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ รวมทั้งมีมาตรการที่แยกเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ หรือบางมาตรการที่จะใช้งบประมาณของหน่วยงานดำเนินการเอง ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ขณะนี้มีงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาทรองรับ
วันเดียวกัน ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 โดยมีผู้สำรวจจำนวน 1,500 ราย จากทั่วทุกภูมิภาค โดยได้สอบถามถึงประเด็น "การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร"
โดยได้รับข้อมูลจากผู้ให้สำรวจว่า "การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน" มีทิศทางเป็นอย่างไร ผู้ให้สำรวจระบุว่า มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดิม 58.7% เหมือนเดิม 24.5% และมีแนวโน้มที่จะแย่กว่าเดิม 16.8%
ขณะที่ มาตรการแก้ไข "ปัญหาทางเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือน" ที่เหมาะสมที่สุด ผู้ให้สำรวจให้ความเห็นตรงกันว่า มาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 สูงถึง 24.8% การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 16% ตรึงราคาสินค้า 10.7% ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10.4% พักชำระหนี้ 9.3% ลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค 9.1% ลด/ตรึงราคาพลังงาน 8.8% ลดราคาค่าบัตรโดยสารรถไฟฟ้า 8.5% และอื่นๆ 2.4%
นอกจากนั้นยังสอบถามถึงแนวนโยบาย "การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" ที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการได้ดีสุด ได้คำตอบจากผู้สำรวจทั้งหมดว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว 38.6% นโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ 32.4% นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ 16.7% นโยบายแสวงหาตลาดต่างประเทศใหม่ 10.8% และ อื่นๆ 2.5%