นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ”สืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 “และ "ใต้ร่มพระบารมี 30 ปีศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ณ ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายเทอดศักดิ์ เขียนนิลศิริ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน และนายวัชเรนทร์ แววดี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 ร่วมบรรยายสรุปผลการดำเนินงานในส่วนของกรมชลประทาน
สำหรับการจัดงานดังกล่าว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในงานมีการจัดแสดงผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปของเกษตรกรผู้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการการเกษตร กรมปศุสัตว์ เป็นต้น
กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้สนับสนุนด้านแหล่งน้ำให้กับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 ให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำให้กับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และราษฎรด้านท้ายอ่างเก็บน้ำได้ใช้ประโยชน์ มีความจุที่ระดับเก็บกัก 26.20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 12,500 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู อำเภอขุนหาญ ที่ได้มีการสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ของคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายจำนวน 3000 ไร่ ตามที่ราษฎรร้องขอีกด้วย
สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ นั้น ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 16 แห่ง เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันประมาณ 347.78 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ของความจุอ่างฯรวมกัน โดยในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมาโครงการชลทานศรีสะเกษ ได้ทำการเสริมกระสอบทรายบริเวณทางระบายน้ำล้น(Spilway) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในการเก็บกัก สำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2568 โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชูอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ มีปริมาณน้ำเก็บกักเต็มอ่างฯ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้มอบหมายให้โครงการชลประทานศรีสะเกษ สำนักงาน ปภ.ศรีสะเกษ และ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันเสริมกระสอบทรายบริเวณอ่างเก็บน้ำ และฝายขนาดเล็ก ที่กรมชลประทานได้ถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นแล้วเช่นกัน เพื่อให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับราษฎรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษตลอดฤดูแล้งนี้ได้เป็นอย่างมาก