เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 11 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ย. 67 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงวันที่ 20 – 26 พฤศจิกายน 2567 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม แยกเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซา อำเภอพระแสง อำเภอชัยบุรี อำเภอดอนสัก อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดนครศรีธรรมราช 18 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพระพรหม อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอขนอม อำเภอทุ่งสง อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอท่าศาลา อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร จังหวัดพัทลุง 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน จังหวัดสงขลา 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ อำเภอสิงหนคร อำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี จังหวัดปัตตานี 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอแม่ลาน อำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอไม้แก่น อำเภอยะรัง อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง อำเภอปานะเระ อำเภอมายอ อำเภอหนองจิก จังหวัดยะลา 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปินัง อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอกาบัง อำเภอยะหา อำเภอรามัน จังหวัดนราธิวาส 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนราธิวาส อำเภอศรีสาคร อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอแว้ง อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอตากใบ จังหวัดตรัง 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอวังวิเศษ อำเภอย่านตาขาว อำเภอห้วยยอด อำเภอนาโยง อำเภอปะเหลียน และจังหวัดสตูล 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอควนกาหลง อำเภอควนโดน

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และ ส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 11 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่มได้ โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ ปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป