แม้รัฐบาล หรือทางการ ไม่ได้ก่อสงครามสู้รบกันโดยตรง แต่กลับได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อน อย่างน่ารันทด

สำหรับ “เลบานอน” ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ทางการของประเทศแห่งนั้น ตกอยู่ใต้อิทธิพลของ “ฮิซบอลเลาะห์ “ กลุ่มติดอาวุธอิสลามหัวรุนแรง ที่ถูกเหล่าชาติตะวันตกตีตราให้เป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ดังกล่าว อันเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ ก็ได้รับความสนับสนุนเป็นประการต่างๆ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนการฝึกฝนในการต่อสู้ทางการทหารจากอิหร่าน ประเทศที่ถูกยกให้เป็นพี่เบิ้มใหญ่ของมุสลิมนิกายชีอะห์ นับตั้งแต่ทางฮิซบอลเลาะห์ ได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาในเลบานอน เมื่อช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษที่ 1980

วัตถุประสงค์ของทางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หลักๆ ก็คือ ขับไล่อิสราเอลออกไปจากเลบานอน

แน่นอนว่า การขับไล่ก็ต้องใช้การสู้รบทางการทหาร เป็นประการสำคัญ ซึ่งทางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้สัประยุทธ์กับกองทัพอิสราเอลกันอยู่เรื่อยมา และบางครั้งบางคราวก็สู้รบกันครั้งใหญ่ สร้างความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ในส่วนของการสู้รบครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มหวนกลับมาเสียงปืนแตกกันอีกครั้งนั้น ก็ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมปีที่แล้ว หรือห่างกันเพียง 1 วัน หลังจากที่กลุ่มฮามาส และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในฉนวนกาซา บุกโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 (พ.ศ. 2566)

กองทัพอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเข้าใส่เป้าหมายกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในย่านชานกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน (Phto : AFP)

จากการที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เปิดแนวรบบริเวณภาคใต้ของเลบานอน ซึ่งมีพรมแดนติดกับทางตอนเหนือของอิสราเอล เริ่มจากการที่ภาษาทหารเรียกว่า ใช้ลูกยาว คือ ปืนใหญ่ ปืนครก ยิงใส่กัน ตอบโต้กันไปมา แต่ก็ต้องบอกว่า การสู้รบในครั้งนั้นยังไม่หนักหนาสักเท่าไหร่ในช่วงแรก เพราะกองทัพอิสราเอล มุ่งโจมตีฉนวนกาซา เพื่อไล่ล่ากลุ่มฮามาสเป็นประการสำคัญก่อน

กระทั่ง เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน ทางกองทัพอิสราเอล ได้ประกาศทำ “สงครามเฟสใหม่” ในปฏิบัติการล้างบางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งจะเริ่มจากพื้นที่ภาคใต้ของเลบานอน ตลอดจนพื้นที่ส่วนอื่นๆ เลบานอนด้วย ไล่ดำเนินการไปเช่นเดียวกับการกวาดล้างกลุ่มฮามาส

กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ ที่เคลื่อนไหวและทรงอิทธิพลในเลบานอน (Photo : AFP)

นั่นคือ เริ่มจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ หรือยุทธเวหา เพื่อให้ฝ่ายตรงข้าม ถูกลดประสิทธิภาพในการสู้รบ ให้อ่อนด้อยลง ก่อนที่กองทัพอิสราเอล จะส่งกำลังภาคพื้นดินลงไปเผด็จศึกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งปฏิบัติการทางทหารในลักษณะเยี่ยงนี้ ก็ย่อมนำมาซึ่งความพังพินาศของฝ่ายตรงข้ามอย่างชนิดย่อยยับ เฉกเช่นเดียวที่เกิดขึ้นพื้นที่ “ฉนวนกาซา”

ในส่วนของ “เลบานอน” ประเทศที่ได้กลายเป็นสมรภูมิระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ตามการเปิดเผยของ “ธนาคารโลก” หรือ “เวิลด์แบงก์” ในฐานะองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ที่เข้าไปช่วยเหลือเลบานอน มากถึง 21 โครงการ นับตั้งแต่ปี 1955 (พ.ศ. 2498) เป็นต้นมา ก็ได้ออกมาประเมินถึงความเสียหายของเลบานอน จากการที่ถูกอิสราเอล ปฏิบัติการทางทหาร ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา

กองทัพอิสราเอล ส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าจู่โจมเมืองทางตอนใต้แห่งหนึ่งของเลบานอน เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Photo : AFP)

โดยทางธนาคารโลก เปิดเผยว่า เลบานอนกำลังเผชิญชะตากรรมระดับวิกฤติ จากความเสียหายของการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งหากคิดเป็นตัวเงินก็มีมูลค่ามากกว่า 8.5 พันดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 3 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ ความเสียหาย หรือความหายนะ อันเป็นวิกฤติที่เลบานอนกำลังเผชิญหน้าอยู่นั้น ก็เป็นทั้งความเสียหายที่มีต่อโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และเศรษฐกิจ ของประเทศเลบานอน

พร้อมกันนี้ ทางเวิลด์แบงก์ ยังระบุด้วยว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยของประชาชนได้รับผลกระทบ คือ เสียหายหนักที่สุด ในกระบวนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพทั้งหมดของประเทศเลบานอน

ตามการประเมินของธนาคารโลก เผยว่า บ้านเรือนในเลบานอนต้องภินท์พังลงเพราะสงครามไปจำนวนมากถึง 9.92 หมื่นหลังคาเรือน หรือเกือบๆ 1 แสนหลังเลยทีเดียว ซึ่งพื้นที่เมืองที่นับว่า เสียหายหนักที่สุด คือ เมืองไทร์ จากการที่บ้านเรือนโดยคิดเป็นร้อยละ 81 ของอาคารบ้านเรือนทั้งหมดในเมืองไทร์เลยทีเดียว

โดยความเสียหายที่บังเกิดทั้งหมดต่อโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของเลบานอนนั้น ก็มีมูลค่าอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 1.2 แสนล้านบาท)

ขณะที่ ความพินาศที่มีเศรษฐกิจของเลบานอนนั้น ต้องบอว่า หายนะยิ่งกว่า เพราะทางธนาคารโลก ระบุว่า มีมูลค่ามากถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินราว 1.8 แสนล้านบาท) จากการที่การค้า การท่องเที่ยว และการเกษตร ถูกสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ ทำลายลงอย่างย่อยยับ

ผลของสงครามที่มาเยือนเลบานอนอย่างมิได้เชื้อเชิญ ก็ทำลายการเติบโต หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเลบานอน โดยทำให้ประเทศแห่งนี้ ต้องประสบกับภาวะหดตัวของเศรษฐกิจมากถึงร้อยละ 5.7 สำหรับ สถานการณ์เศรษฐกิจของเลบานอน ในปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่กำลังจะหมดไปนี้

“การท่องเที่ยว” หนึ่งในภาคธุรกิจที่ทำรายได้ให้แก่เลบานอน ในฐานะเมืองจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะมีสถานท่องเที่ยวต่างๆ เป็นจำนวนมาก ต้องถูกทำลายลงเพราะสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในช่วงที่ผ่านมา (Photo : AFP)

พร้อมกันนี้ ทางธนาคารโลก ยังระบุด้วยว่า ความเสียหายของเลบานอน ยังจะทวีเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ประเมินไปข้างต้น หากการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ความเป็นจริง ทั้งสองฝ่ายยังคงสู้รบอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด

นอกจากความเสียหายข้างต้นแล้ว เลบานอนก็ยังเซ่นสังเวยชีวิตประชาชน ตลอดจนผู้ได้รับบาดเจ็บจากสงครามดังกล่าวด้วย

ตามการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขเลบานอน ระบุว่า นับตั้งแต่เลบานอนกายเป็นสมรภูมิรบเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ก็ได้ประชาชนถูกคร่าชีวิตไปแล้วกว่า 3,400 คน ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนมากเกือบ 15,000 คนด้วยกัน ขณะที่ผู้อพยพหนีภัยสงครามการสู้รบมีจำนวนมากกว่า 8.75 หมื่นคน

โดยความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินในเลบานอน บรรดานักวิเคราะห์ ก็จัดให้เป็นประเทศหายนะหนักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และสถานการณ์หายนะที่ว่า ก็มีทีท่าว่าจะไปต่อ เพราะไม่รู้ว่าสงครามจะจบสิ้นลงเมื่อใด