“รัฐบาล”เดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘DE-fence platform’ แพลตฟอร์มกันลวง ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้า-SMS คาดพร้อมใช้ต้นปี 68 หวังแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2567 ) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหา อาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงดีอีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านโครงการ ‘DE-fence platform’ หรือ แพลตฟอร์มกันลวง ป้องกันการโทรหลอกลวง และ SMS หลอกลวง ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จะเร่งพัฒนาให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568

 

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นการป้องกัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้การโทร และการส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนทุก ๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่าผู้ให้บริการ และผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ

 

DE-fence platform สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และกระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งความออนไลน์ และแจ้งอายัดบัญชีคนร้ายผ่าน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับตำรวจอีกด้วย

 

DE-fence platform ใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ เป็น 3 กลุ่มสี คือ

 

1) Blacklist ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือปิดกั้นแบบอัตโนมัติ

2) Greylist เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว

3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือหมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ

 

สำหรับการพัฒนา DE-fence platform ระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทรและ SMS ก่อน โดยเฉพาะ Whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ และในระยะต่อไปจะขยาย Whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย ถือเป็นมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้เห็นผล