วันที่ 18 พ.ย. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 63,585 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีน้ำรวมกันประมาณ 22,024 ล้าน ลบ.ม. หรือ 89% ของความจุอ่างฯ รวมกัน 

จากปริมาณน้ำดังกล่าว ภาพรวมสถานการณ์น้ำต้นทุนในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนในพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำต้นทุนดี ทำให้ปีนี้สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยสามารถสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศได้รวม 10.02 ล้านไร่ ปัจจุบันได้เริ่มมีการเพาะปลูกแล้วกว่า 5.4 แสนไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ย. 67) ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ กรมชลประทานได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยจะพร่องน้ำออกเพียงบางส่วน และจะรักษาระดับน้ำในทุ่งไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งต่อไป ส่วนที่ทุ่งบางระกำ ปัจจุบันได้ยุติการระบายน้ำแล้ว เพื่อเก็บน้ำไว้ในทุ่งเตรียมแปลงเพาะปลูก ซึ่งในปีนี้เกษตรกรสามารถทำนาได้เร็วกว่าแผนประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากกรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้ปฏิทินการเพาะปลูกทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จทันก่อนฤดูหลากในปีถัดไป

ขณะเดียวกัน ด้านการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. นี้ จะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้เร่งพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำตามจุดเสี่ยงน้ำหลากบริเวณต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทันที หวังลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด