ไทยพีบีเอส เน้นย้ำความสำคัญด้าน DATA เปิดพื้นที่นำข้อมูลและแนวคิดการใช้ประโยชน์จาก DATA แบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญ กับงาน The Visual Talk: DATA is All Around พร้อมชมนิทรรศการในรูปแบบ interactive 5 ผลงานเด่นจาก The Visual By Thai PBS
ไทยพีบีเอส หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา The Visual Talk ภายใต้แนวคิด ‘Data is All Around’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูล (Data) พร้อมส่งเสริมการนำข้อมูลมาใช้ขับเคลื่อนสังคมและพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ซับซ้อนและเข้าใจยากได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
รศ. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอสยังคงยึดพันธกิจเดิม คือการสื่อสารเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถูกต้อง เป็นธรรม เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือและการใช้สื่อสารให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน เช่น การเทคโนโลยีอินเทอร์แอคทีฟ (Interactive) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้และแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการผลักดันให้ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนโยบายและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐตามหลักการของ Data Journalism จึงนำไปสู่การจัดเวทีเสวนาในวันนี้
“ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้ชื่อว่า The Visual ThaiPBS เป็นหนึ่งในหมุดหมาย หรืออาจจะบอกว่าเป็นหนึ่งในผลผลิตและผลงานที่น่าภาคภูมิใจของ ThaiPBS ที่ทำให้เห็นว่าการปรับตัวเองไปสู่สื่อสาธารณะที่ยังคงทำพันธกิจสำคัญคือเป็นพื้นที่เพื่อระดมการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังคงยึดมั่นพันธกิจนี้อยู่ แต่เปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมากขึ้น” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงาน The Visual ThaiPBS ได้นำตัวอย่างผลงานการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลมาจัดแสดงด้วย ได้แก่ 1.The Bag (สัม) ภาระหนัก บนบ่าเด็ก :สะท้อนปัญหาการแบกน้ำหนักกระเป๋านักเรียนของเด็กไทย 2.Thrones of Thorn ศึกชิงบัลลังก์ราชาหนาม ปอกเรื่องราวใต้เปลืองทุกเรียนไทย : บอกเล่าประวัติศาสตร์ของทุเรียน หนึ่งในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทย 3.เธอไม่เปลี่ยนแปลง..ร้อนนี้จึงเปลี่ยนไป : ฉายภาพอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต และมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญเพียงใดกับการเปลี่ยนแปลงนี้
4.นกเงือก..นักปลูกป่าผู้คลั่งรัก : ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมของนกเงือกที่ช่วยกระจายพันธุ์ไม้และเพิ่มพื้นที่ป่า และ 5.วัยเด็ก วันเด็ก กับความหวังที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น : รวบรวมคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน มาถอดรหัสหาความคาดหวังของผู้ใหญ่ต่อเด็ก และคำขวัญของแต่ละยุคสมัยสัมพันธ์กับสถานการณ์ของประเทศเพียงใด
กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดมุมมองถึงแนวโน้มข้อมูลและบทบาทของ “คีย์เวิร์ด” ในการกำหนดทิศทางสังคม พร้อมเผยถึงความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจและสังคมต้องเตรียมรับมือในปี 2025 โดยชี้ว่า คนไทยกว่า 4 ใน 5 ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ และมีพฤติกรรมคล้อยตามการแนะนำของบุคคลดัง ส่งผลต่อกลยุทธ์ทางการตลาดในปีหน้า แพลตฟอร์ม อย่าง Tiktok จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนบริบทการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเชิงพาณิชย์ แต่การสื่อสารวาระทางสังคมก็ต้องปรับตัวตามด้วยเช่นกัน
กล้า ระบุว่า ปีที่ผ่านมาเราเห็นบทบาทของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกขับเคลื่อนผ่านคีย์เวิร์ดบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นกระแสนิยม หรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์, การส่งแรงใจเชียร์การแข่งขันโอลิมปิก หรือกระแสไลฟ์สไตล์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น หมีเนย หรือหมูเด้ง เป็นต้น เหล่านี้เป็นความท้าทายสำคัญในปี 2024 อยู่ที่การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มโซเชียล โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในฐานะช่องทางหลักที่ดึงดูดทั้งแบรนด์และผู้บริโภค
พลังของคีย์เวิร์ดซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดการรับรู้และการสื่อสารในยุคดิจิทัล มีผลกระทบเชิงบวกและลบต่อธุรกิจและผู้บริโภคอย่างมหาศาล โดยเราเห็นข้อมูลชัดเจนว่าคีย์เวิร์ดสามารถสร้างหรือทำลายแบรนด์ได้ ธุรกิจจึงควรลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจและจับกระแสได้อย่างรวดเร็ว กล้า แนะแนววิธีการปรับตัวให้ทันในยุคของข้อมูลคร่าว ๆ 3 ข้อ คือ
วิเคราะห์ผู้บริโภคเชิงลึก: การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบนแพลตฟอร์มใหม่ เช่น TikTok มีนัยสำคัญที่ธุรกิจต้องใส่ใจ โดยเฉพาะการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย อินฟลูเอนเซอร์ยังทรงพลัง: การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ขนาดเล็ก (Micro-Influencers) เพื่อสื่อสารเฉพาะกลุ่มยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญ และแบรนด์ต้องตอบสนองทันที: สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็วโลกของข้อมูลมีพลวัตที่รวดเร็วและซับซ้อน ธุรกิจที่สามารถจับเทรนด์ได้ก่อนและปรับตัวได้ไว จะเป็นผู้ชนะในยุคที่คีย์เวิร์ดคืออาวุธทรงพลังในการกำหนดทิศทางของสังคม
ดร.อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอราไลน์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำหากต้องการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ก็คือการมีนโยบายดูแลทรัพยากรข้อมูล เช่นเดียวกับนโยบายดูแลทรัพยากรบุคคล ไล่ตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานจากคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล มีมาตรฐานกระบวนคัดกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่หรือใช้งาน เพราะการไม่มีมาตรฐานจะเกิดปัญหา เช่น ข้อมูลสกปรกไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือข้อมูลหลุดรั่วเพราะไม่มีกฎเกณฑ์การนำไปใช้
“ข้อมูลจะมีคุณภาพในการใช้งาน เพราะจะมีกฎระเบียบว่าข้อมูลที่ถูกนำไปใช้จะต้องผ่านการกระบวนการกำกับดูแลก่อน เราจะได้มั่นใจว่าข้อมูลชุดนี้ใช้งานได้ ไม่เช่นนั้นข้อมูลไม่สะอาด เอาไปวิเคราะห์กัน Garbage In – Garbage Out (ใส่ของเสียเข้าไปก็ได้ของเสียกลับออกมา) ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เสียพลังงานในการวิเคราะห์เปล่าๆ สุดท้ายมีแนวทางชัดเจนและมันจะเกิดการแบ่งปันข้อมูล เพราะมีการจัดลำดับชั้นแล้ว ข้อมูลชุดนี้ต้องเผยแพร่ ชุดนี้ต้องเป็นความลับ ดังนั้นจะไม่มีคำพูดว่าข้อมูลนี้แชร์ได้หรือไม่” ดร.อสมา กล่าว
ด้าน อาทิตยา บุญยรัตน์ หนึ่งในทีมสื่อสารนโยบายกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมพูดในหัวข้อ Empowering Connections with Data: สื่อสารข้อมูลผ่าน Visual เพื่อกลุ่มคนหลากหลาย โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของข้อมูล (data) ในการผลักดันนโยบายเมืองที่โปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชน และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะในกรุงเทพฯ โครงการต่าง ๆ เช่น Bangkok Green และ BK Food Bank เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ข้อมูลสามารถนำไปสู่การสร้างเมืองที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม
อาทิตยา เปิดเผยว่า การบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายถึง 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการลดปริมาณขยะไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการกำจัด แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ กทม. ได้ผลักดันโครงการ “ไม่เทรวม” โดยส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปทำเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (BSF) และผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืชผักและผลไม้ในตลาดสด ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้มากถึง 141 ล้านบาทในปี 2566 ต้องขอบคุณหน่วยงานต้นทางที่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ได้
อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญคือ การจัดการขยะในช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นวันที่มีปริมาณขยะสูงกว่าปกติ ในปีที่ผ่านมา (2565) มีการเก็บกระทงจากแม่น้ำและคูคลองในกรุงเทพฯ มากถึง 639,000 ใบ โดย 94.7% ของกระทงทั้งหมดทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น ใบตองและต้นกล้วย แสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนเกี่ยวกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะจำนวนมหาศาลในวันเดียวนี้ สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนากลไกการจัดการขยะและส่งเสริมการคัดแยกขยะในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
สำหรับ “The Visual by Thai PBS” กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสื่อของการนำเสนอเนื้อหา และการสะท้อนประเด็นทางสังคมผ่านเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/TheVisual ว่า “The Visual เป็นบริการที่ออกแบบมาภายใต้แนวคิด "Making DATA Visible" เข้าใจทุกเรื่องราวด้วยข้อมูล ด้วยกระบวนการทาง Data Journalism หรือ วารสารศาสตร์ข้อมูล มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากในมิติต่าง ๆ ทุกรูปแบบสื่อ ในหลากหลายวิธี ทั้งจากฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การทดลองกลุ่มตัวอย่าง และการสัมภาษณ์ผ่านการวิเคราะห์ แปลงข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบต่าง ๆ ให้กลายเป็นเรื่องเล่าที่เข้าใจง่าย (Storytelling) รวมถึงผสมผสานการสร้างสื่อปฏิสัมพันธ์เชิงตอบโต้หรือ Interactive เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างน่าสนใจ ปัจจุบัน The Visual นำเสนอเนื้อหาประเด็นสะท้อนสังคมใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ความเท่าเทียม (Equality), สิ่งแวดล้อม (Green), สังคมเมือง (Urban) และ วัฒนธรรม (Culture)”