ภายในงานประกวดนวัตกรรมระดับประเทศเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ตามโครงการประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship จัดโดย ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ฉลองครบรอบ 10 ปี มีเยาวชนเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ นำเสนอผลงานภายใต้หัวข้อ 'การออกแบบนวัตกรรมพลังบวกเชื่อมต่อชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่า' (Connect Innovation with Communities for a Better World Challenge)' โดยเน้นให้ผลงานนวัตกรรมสร้างประโยชน์แก่ชุมชนได้จริง

นางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน กล่าวว่า ฟอร์ดภูมิใจที่ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ไม่เพียงสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ยังมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมต่าง ๆ ไปใช้งานจริงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนรวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรเพื่อสังคมในประเทศไทย

นายชุมพล ชารีแสน ครูประจำโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ผู้ชนะรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 Ford Innovator Scholarship 2023 กล่าวถึงความสำคัญของการคิดค้นนวัตกรรม ว่า การแข่งขันถือเป็นเวทีให้เด็กได้แสดงศักยภาพ เปิดโอกาสให้เด็ก ถึงจะได้รางวัลหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมนักเรียนให้คิดค้นวัตกรรมบนพื้นฐานของการแก้ปัญหา สามารถสอดรับกับชุมชนใกล้ตัว เพื่อแก้ปัญหาด้านอาชีพและความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้น โดยให้นักเรียนลงสำรวจพื้นที่และความคิดเห็นคนในชุมชน ว่ากำลังประสบปัญหาอะไรบ้าง จึงพบว่า ผ้าไหมคือสัญลักษณ์ของ จ.กาฬสินธุ์ คนในชุมชนดั้งเดิมประกอบอาชีพเกี่ยวกับผ้าไหมเป็นส่วนมาก ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงตัวไหมจนถึงการทอผ้าไหม ขณะที่ใยไหมสีเหลืองจากตัวไหมมีราคากิโลกรัมละ 2,500 บาท หากนำไปฟอกขาวจะมีราคาเพิ่มขึ้น และหากทอเป็นผ้าผืนจะตกกิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท หากเป็นผ้าถุงตกกิโลกรัมละ 10,000 บาทขึ้นไป

นายสรวิส เจริญธรรม นักเรียนชั้น ม.6 จากทีมโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรม ว่า หลังจากลงพื้นที่ไปพบเกษตรกรในชุมชน ปัญหาที่พบคือ เมื่อถึงฤดูหนาว หนอนไหมจะกินอาหารน้อยและเริ่มเก็บตัวตามธรรมชาติ จึงให้ผลผลิตใยไหมน้อยลงตามไปด้วย ทำให้ธุรกิจใยไหมและผ้าไหมหยุดชะงัก ชาวบ้านรายได้ลดลง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงน้อยลงเพราะไม่คุ้มค่า ซึ่งประสบปัญหานี้มาโดยตลอด จึงค้นคว้าวิธีให้ตัวไหมกินอาหารได้ในฤดูหนาว เกิดเป็นนวัตกรรมกระตุ้นการกินอาหารของหนอนไหมเพื่อแก้ปัญหาให้คนในชุมชน

“จุดเด่นของทีมเราคือการลงพื้นที่จริง นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาคิดค้นนวัตกรรม ผ้าไหมแพรวาถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเรากำลังจดลิขสิทธิ์นวัตกรรมนี้ และพร้อมจะถ่ายทอดความรู้และต่อยอดในเชิงธุรกิจ เนื่องจากนวัตกรรมนี้สามารถเลี้ยงหนอนไหมได้ทุกที่และตลอดทั้งปี”

นายสรวิส กล่าวว่า ทีมได้คิดค้นอุปกรณ์เพื่อสร้างคุณภาพและเพิ่มปริมาณใยไหม เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร จากการทดลองอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทำให้หนอนไหมเข้าฝักเร็วขึ้นถึง 4 วัน จากการเลี้ยงตามปกติ 20 วัน ทำให้ลดค่าอาหารหนอนไหม การเจริญเติบโตเร็วขึ้น มีเส้นใยคงทนกว่าเดิมในอัตรา 5 ต่อ 4 เทียบระหว่างการใช้อุปกรณ์กับไม่ใช้อุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ดังกล่าว เบื้องต้นมีโมเดลเป็นตู้ควบคุมอุณหภูมิ 25-30 องศาฯ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่หนอนไหมกินอาหารได้ดี ภายในตู้ประกอบด้วยพัดลมระบายอากาศหมุนเวียนตามระบบอัตโนมัติ ควบคุมแสงให้เหมาะสม ซึ่งเทคนิคต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ค้นคว้าทดลองโดยละเอียด ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเลี้ยงไหมได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันมีต้นทุนอุปกรณ์เครื่องละประมาณ 2,000 บาท พร้อมขยายผลในเชิงธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการันตีจากเกษตรกรผู้ใช้จริง

นายชุมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการสร้างนวัตกรรมมีความสำคัญ ครูมีหน้าที่ชี้แหล่งข้อมูลให้นักเรียน พาไปพบข้อมูล จะได้ทราบปัญหาที่แท้จริง เพื่อจะได้ออกแบบนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของชุมชน สิ่งที่นักเรียนได้นอกเหนือจากตัวนวัตกรรม คือ ได้ฝึกเก็บข้อมูล เช่น สัมภาษณ์ ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ รู้จักการให้ความสำคัญกับปัญหาชุมชน เพื่อใช้ความรู้ช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป