ปิดฉากประชุมเวทีผู้นำเอเปคอย่างงดงาม นายกฯอิ๊งค์ ฉายความโดดเด่นบนเวทีระดับโลก หลังโชว์วิสัยทัศน์ 3 แนวคิด สร้างโอกาส สร้างความร่วมมือ และปฎิญญากรุงเทพ BCG ที่ไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เชื่อมั่น เอเปคจะเป็นผู้นำสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในโลก

        
 เมื่อวันที่ 16 พ.ย.67 เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) ณ ห้อง Lima ชั้น 1 Lima Convention Center น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมผู้นำ ในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders Retreat) ซึ่งเป็นการประชุมวันที่สาม  โดยมี นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรู เป็นประธาน 
        
 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังการประชุมนัดสุดท้ายก่อนพิธีปิดการประชุม เอเปค ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีเปรูและประชาชนชาวเปรู ในการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดการเดินทางมากรุงลิมา  อีกทั้งขอขอบคุณในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อผู้นำเอเปค เมื่อคืนที่ผ่านมาที่เจ้าภาพเปรูได้เลี้ยงรับรองด้วยอาหารที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเปรูออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและขอขอบคุณกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ  IMF ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับสมาชิกเอเปคทราบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน
        
 โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกันเชื่อว่า เอเปค เป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมากระหว่างสมาชิกเอเปค ด้วยกัน  และมั่นใจว่าด้วยการทำงานร่วมกันของสมาชิกจะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและมีปัจจัยใหม่ๆในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ  โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน 
        
 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความร่วมมือและก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกันของประเทศสมาชิก เอเปค ดังนี้ 1.เราจะ สร้างโอกาสสำหรับทุกคน (opportunities for all)  โดยสมาชิกเอเปคจะทำงานร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังซึ่งแนวคิดนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่สมาชิกต้องบริหารจัดการกับเศรษฐกิจในระบบที่สมาชิกสามารถตกลงร่วมกันได้   แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยเข้าใจถึงความท้าทายของการบริหารการทำงานนอกระบบ เนื่องจากในประเทศไทยยังพบว่ายังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งยังอยู่ในการทำงาน นอกระบบ
          
 โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ใขเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงาน "ในระบบ" ให้เติบโตในทุกมิติด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึง AI มาใช้เป็นกลไกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านระบบการเงินดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางของไทยให้มีโอกาศทัดเทียมกันในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายในการขจัดความยากจน นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังพิจารณานำ "Negative Income Tax" ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจะจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด

สำหรับความร่วมมือของสมาชิกเอเปค ควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพราะนอกจากจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Nomadหรือกลุ่มคนที่มีธุรกิจค้าขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ เอเปคควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค APEC Business Travel Card (ABTC) ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย
        
  2. ประเทศไทยมีแนวคิด ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้า ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับ FTAAP จะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึง MSMEs  และกลุ่มบุคคลทุกเพศทุกวัย ขณะเดียวกันประเทศไทยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่ๆและพัฒนาในโลกการเงินที่เรียกว่า "สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน" ที่สมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย
              
3. เอเปคต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพหรือ BCG ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยวางแผนการเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
         
ทั้งนี้ประเทศไทยขอให้เอเปค เป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยน ไปสู่ BCG รวมทั้งสนับสนุนให้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและการค้าเครดิตคาร์บอนร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าเอเปคสามารถเป็นผู้นำในการ "สร้างอนาคตที่ยั่งยืน" ร่วมกันได้
  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า "แม้จะยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในเอเปค แต่เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ จะทำให้เอเปคใกล้บรรลุผลในการทำงานร่วมกันและใกล้ชิดประชาชน ทุกประเทศมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับเปรู ในความสำเร็จในการจัดการประชุมและประเทศไทย จะเฝ้ารอความคืบหน้าต่างๆในการประชุมอีกครั้งในโอกาศที่ประเทศเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพประชุม ในครั้งต่อไป"
              
ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Declaration) (2) ถ้อยแถลงอิชมา ว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Ichma Statement on a New Look to advance the Free Trade Area of the Asia-Pacific) และ (3) แผนงานลิมา เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค (Lima Roadmap to Promote the Transition to the Formal and Global Economy)
            
 ซึ่งถือว่า เป็นการเสร็จสิ้นการประชุมอย่างเป็นทางการ โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ พร้อมคณะ จะออกเดินทางกลับประเทศไทยในเย็นวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. เวลาประมาณ 18 นาฬิกาตามเวลา เปรู และจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27  ชั่วโมง โดยจะถึงท่าอากาศยานทหารอากาศ ดอนเมืองในวันจันทร์ที่ 18 พ.ย. เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ตามเวลาในประเทศไทย