วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ผลของคดีฟุตซอลยังมีเรื่องที่ต้องตรวจสอบตามมาโดยต้องใช้เวลาอีกมาก แต่ขณะนี้ ตนสุขภาพไม่ค่อยดี เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง พอว่างและมีแรงทำงานก็ตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ต่อไป โดยวันนี้ ตนย้อนไปดูรายงาน กมธ.งบประมาณ พ.ศ. 2555 พบว่า ประธานคณะ กมธ. คือนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จึงนำคำพิพากษาคดี อม.31/2567 มาอ่านอีกครั้ง จึงเห็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานคณะกมธ.งบประมาณ 2555 ควรจะมีส่วนรับผิดชอบตามคำพิพากษาดังกล่าวด้วยหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้ จึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ว่าจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 31/2567 ลงวันที่ 5 กันยายน 2567 ด้วยหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำร้องได้คัดคำพิพากษามาบางส่วนเพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้
ข้อ 1. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 31/2567 ลงวันที่ 5 กันยายน 2567 ศาลพิพากษา(หน้า 65-67)ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 100,000 บาท องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกได้เพียง 3 เดือนเศษ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างใด หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำคณะครูไปยังสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 5 เพื่อแจ้งปัญหาการก่อสร้างสนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การบอกเลิกสัญญาในบางโรงเรียน เป็นการระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย .
ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ข้อ 2. สาเหตุสำคัญแห่งคดีมีส่วนมาจาก คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ได้ระบุเงื่อนไขในชั้นกรรมาธิการว่าจะต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดประกอบการจัดสรรงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎรโดยการประสานงานจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ข้อ 3. ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 31/2567 ลงวันที่ 5 กันยายน 2567 จึงเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 กำหนดไว้ ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานฯ
ข้อ 4. ทั้งนี้ เห็นได้จากบางส่วนของคำพิพากษาดังกล่าว ในหน้าต่าง ๆ เช่น
(หน้า 34) สำหรับขั้นตอนต่อไปได้ความว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 อนุมัติงบประมาณในแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา ผลผลิตผู้จบการศึกษาภาคบังคับ งบลงทุนครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นเงิน 4,459,420,000 บาท แยกเป็นครุภัณฑ์งานบ้านงานครัวเป็นเงิน 512,142,000 บาท ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท เป็นเงิน 3,947,278,000 บาท
(หน้า 37) ซึ่งตามหนังสือแจ้งดังกล่าวมีคำว่า “ผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษา” หมายถึง ผู้ประสานงานของพรรคการเมืองที่ได้รับงบแปรญัตติ ซึ่งมีเงื่อนไขในชั้นกรรมาธิการว่า จะต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดประกอบการจัดสรรงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎร โดยจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้แทนมาประสานงานเพื่อจัดส่งรายชื่อโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง แม้พยานจะทราบและเป็นผู้รับรายชื่อโรงเรียนมาเพื่อดำเนินการจัดทำเอกสารตามขั้นตอนปฏิบัติ ก็ไม่อาจปฏิเสธหรือปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ เพราะจำเป็นต้องทำตามที่ถูกกำหนดมาแล้วโดยคณะกรรมาธิการ
(หน้า 38) งบประมาณที่ถูกปรับลดไว้จะกลายสภาพเป็นงบแปรญัตติ ซึ่งจะระบุ เงื่อนไขไว้ในชั้นกรรมาธิการว่าจะใช้ข้อมูลจากสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะจัดสรรไปใช้จ่ายตามความต้องการของตนเอง เพราะฉะนั้นโรงเรียนใดจะได้รับงบแปรญัตติมากน้อยเพียงใด จะถูกกำหนดมาแล้วโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กำหนดโควตาเป็นงบประมาณของพรรคการเมือง กำหนดกรอบวงเงินเป็นรายพรรค เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญอนุมัติงบประมาณแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณจะส่งบัญชีคุมยอดทางโทรสารมาให้นายรังสรรค์ จากนั้นนายรังสรรค์จึงส่งมอบบัญชีคุมยอดให้พยาน แล้วำพยานส่งมอบบัญชีคุมยอดต่อให้แก่นางสาวสุดา เมื่อประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2555 มีผู้ประสานงานพรรคการเมืองมาประสาน กับนายรังสรรค์ เพื่อควบคุมงบไม่ให้เกินกรอบวงเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน ผู้ประสานงานพรรคการเมืองทยอยส่งรายชื่อโรงเรียนให้นายรังสรรค์ตามเอกสารหมาย จ.264 นายรังสรรค์ เรียกพบานและนางสาวสุดา ไปรับข้อมูลมาจัดทำเอกสารเสนอจำเลยที่ 2 บางครั้งผู้ประสานงานของพรรคการเมืองจะประสานกับพยานหรือนางสาวสุดา โดยตรง
นอกจากนี้ผู้ประสานงานพรรคการเมืองยังมอบบัญชีรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้รับการสนับสนุนงบประมาณด้วย ตามเอกสารหมาย จ.254 หน้า 9867 ถึง 9870 โดยปรากฏชื่อของจำเลยที่ 1 อยู่ในหน้า 9870 ลำดับที่ 132 เห็นว่า พยานโจทก์มีทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณและเจ้าหน้าที่สำนักงานคระกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่างเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันว่ามีการรับส่งบัญชีคุมยอดฉบับดังกล่าวจริง
(หน้า 39) แต่บันทึกข้อความสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มงบประมาณ 3 ที่เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ มีข้อความระบุชัดแจ้งว่า “...คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ได้ระบุเงื่อนไขในชั้นกรรมาธิการว่าจะต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดประกอบการจัดสรรงบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎร โดยการประสานงานจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และขณะนี้สำนักงานคระกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับการประสานข้อมูลจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นบางส่วนยังไม่ครบถ้วนทั้งหมด” ตามเอกสารหมาย จ.239 และ จ.240 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงก็ปรากฏชัดอยู่ว่าได้มีการจัดสรรงบประมาณตามบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมือง เอกสารหมาย จ.254 หน้า 9867 ถึง 9870 จริง
(หน้า 40) พยานหลักฐานจากการไต่สวนฟังได้ว่า มีการจัดทำบัญชีคุมยอดรายการแปรญัตติ (ใบโควตา) จริง
(หน้า 44) เห็นว่า บัญชีรายละเอียดขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขในคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าจะต้องรอข้อมูลจากสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะจัดสรรไปใช้จ่ายตามความต้องการของตนเอง บัญชีรายละเอียดขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจึงระบุไว้แต่เฉพาะรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดสรรงบประมาณดังกล่าวมีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราฎรเพียงบางราย แสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณก็จะไม่มีรายชื่อในบัญชีรายละเอียดขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว
(หน้า 45-48) รวมทั้งหน้าอื่นๆ และสรรพเอกสารในสำนวน ป.ป.ช. ควรรู้ดีอยู่แล้ว
ข้อ 5. เนื่องจากผลของคดีดังกล่าว อาจทำให้เห็นได้ว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายร้อยคน น่าจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
ข้อ 6. สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นๆ อีกหลายร้อยคน จากหลายพรรคการเมือง รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อปรากฏในพยานเอกสารของคดีดังกล่าว ซึ่งมีหลายหมื่นหน้า จะต้องใช้ทำการตรวจสอบอีกพอสมควร เพื่อจะได้ร้องเป็นราย ๆ ไป เพราะมีการใช้งบแปรญัตติที่แตกต่างกัน หากผู้ใดมีพยานหลักฐานควรแก่การร้อง ก็จะร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป
นายเรืองไกร กล่าวว่า สส. หรือรัฐมนตรี รายอื่น จะยังมีเวลาตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 ดังที่ศาลวินิจฉัยไว้เป็นแนวทางแล้ว