เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (อดีต สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

ทำไมการดื้อเจรจาตามMOU2544แบ่งผลประโยชน์กัน

ถ้าไม่ปักปันเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชาให้ถูกต้องยุติก่อน

จะทำให้ไทยเสียดินแดนรอบเกาะกูดและในอ่าวไทยอย่างแน่นอน

โดยขออ้างหลักฐานและข้อมูลที่ตรวจค้นปรากฏ ดังนี้

1) แผนที่สัมปทานพ.ศ.2510 ท้ายประกาศกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ เรื่องการกำหนดเขตพื้นที่……ในการออกอาชญาบัตรผูกขาดสัมปทานปิโตรเลียมและการออกประทานบัตรทำเหมืองปิโตรเลียม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 30 ม.ค. 2510 ทำให้กลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลลอนนอลกำกับสั่งการให้ขีดเส้นแดนรุกล้ำเข้ามาในกลางอ่าวไทย เพื่อมีส่วนแบ่งหรือยึดแหล่งพลังงาน เพื่อเก็บไว้ใช้อ้างสิทธิ์ ฯลฯ

2) รัฐบาลลอนนอล ภายใต้กำกับของมหาอำนาจตะวันตกและกลุ่มทุนพลังงาน สั่งการให้ประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลโดยไม่ได้ยึดหลักการตามกฎหมายทางทะเล ในราชกิจจากัมพูชา  1972ประกาศรุกเกาะกูดรุกล้ำน่านน้ำไทยชัดเจน โดยอ้างว่าทำตามสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ที่ไทยยอมเสียดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ แลกจันทบุรี ตราดและเกาะกูดคืนจากฝรั่งเศส โดยกัมพูชาบิดเบือนตีเส้นเขตแดนทางทะเล พ.ศ.2515 แอบอ้างสนธิสัญญา ค.ศ.1907 ว่า ตีเส้นจากทางบกโดยใช้ยอดเขาสูงสุดบนเกาะกูดเป็นจุดเล็งผ่ากลางเกาะกูดเล็งไปทางจังหวัดประจวบคิรีขันธ์เกือบครึ่งอ่าวไทย ทั้งที่ข้อเท็จจริงในสนธิสัญญาค.ศ.1907 เป็นเรื่องตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงคือ เอกสารสนธิสัญญาระบุชัดว่า จุดสูงสุดบนเกาะกูดใช้เพื่อเล็งจากเกาะเข้าชายฝั่งทางทิศตะวันออก กำหนดว่าเส้นที่ลากไปโดนชายฝั่ง ใช้ชี้จุดแบ่งไทย-กัมพูชาเท่านั้น เพราะสมัย ร.5 ยังไม่มีกฎหมายพื้นที่ทะเล จึงเป็นไปไม่ได้ตามที่กัมพูชาอ้างสนธิสัญญาแล้วเล็งออกไปทะเล เส้นเขตแดนกัมพูชาพ.ศ.2515 จึงเป็นการอ้างโดยแกล้งเข้าใจผิด เพื่อตีเส้นไปยังแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติของไทยกำหนดเขตอนุญาตให้สำรวจและจะออกประทานบัตรปิโตรเลียม  เพื่อสร้างเหตุให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ต้องมาเจรจากัน

ใช่หรือไม่

3) ทุกรัฐบาลไทย ปฏิเสธไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาลากขึ้นโดยไม่มีกฎหมายทะเลใดๆ หรือสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาใดๆ รองรับ

ที่สำคัญคือในวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกาศเขตแดนทางทะเลของไทย

โดยยึดหลัก สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907และอนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ลงวันที่ 29 เมษายน 1958 หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป 1958 โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 แบ่งพื้นที่เท่ากันระหว่างเกาะกูด(ไทย) และเกาะกง(กัมพูชา) แล้วลากตรงไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล แล้วลากเส้นเขตแดนทางทะเลไปยังทิศใต้ตามแนวเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจนถึงเขตทะเลมาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกต้องและยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

4) กองทัพไทยโดยเฉพาะกองทัพเรือได้ยึดถือเส้นเขตแดนทางทะเลตามพระบรมราชโองการวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 นี้มาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง ทุกรัฐบาลได้นำพระบรมราชโองการเขตแดนทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2516 จากวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ถึงเดือนมกราคม 2544 เป็นเวลา 28 ปีเศษที่ทะเลไทยไม่เคยทับซ้อนกับทะเลกัมพูชา ผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 13 คน จาก จอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงนายชวน หลีกภัย

5) รัฐบาลทักษิณ ชนะการเลือกตั้งปี 2544 ได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544  ต่อมาอีกเพียง 4 เดือนกับ 9 วัน ได้มีการลงนาม MOU 44 ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกับกัมพูชา ยอมรับว่าทะเลไทยกับทะเลกัมพูชาทับซ้อนกันเป็นพื้นที่มากกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ตามเอกสารประกอบใน MOU 2544

ทำให้ประชาชนชาวไทยวิตกกังวลว่าเรื่องนี้จะซ้ำรอยเสียดินแดนเช่นเดียวกับคดีเขาพระวิหาร

MOU 2544 จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตการเมืองไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

6) แม้MOU2544 กระทรวงการต่างประเทศจะผูกเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์แหล่งพลังงานต้องทำควบคู่กับการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลที่ต้องตกลงกันได้อย่างถูกต้องและยอมรับกันได้ก็จริง แต่จากความไม่ไว้วางใจที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า การตีเส้นเขตแดนกัมพูชา2515 รุกมาในอ่าวไทย หลังไทยตีเส้นแบ่งตามแผนที่แปลงสัมปทานสำรวจและขุดเหมืองปิโตรเลียม2510ที่ประกาศ มค 2511คือสาเหตุที่ทุนพลังงานข้ามชาติ ต้องการเข้ามาฮุบแหล่งปิโตรเลียมของไทยผ่านอิทธิพลทางทหารและการเมืองในกัมพูชาขณะนั้น และการที่ปรากฏท่าทีชัดเจนจากนักการเมืองไทยบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์และประโยชน์ทับซ้อน คิดเอาผลประโยชน์ชาติไปแบ่งปันกัน

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ไทยจะไม่เสียดินแดนทางทะเล อย่างแน่นอน ในการเจรจาที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปตามMOU2544  มีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้

1) ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสค.ศ.1907 อนุสัญญาว่าด้วยทะเล อาณาเขตและเขตต่อเนื่อง  1958 และ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ให้ได้ข้อยุติเสียก่อน

2) ควรแก้ไขปรับปรุง MOU2544 ให้ชัดเจน หรือ ยกเลิกMOU2544 ก่อน

เพื่อเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล ให้ยุติก่อน จึงเริ่มการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ตามเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง โดยจะมีMOUใหม่ หรือที่ปรับปรุงแก้ไขก็ได้

3) รัฐบาลต้องนำเรื่องMOU 2544 เดิม  และกรอบการเจรจาของคณะกรรมการ JTC ที่ตั้งขึ้นใหม่เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่ หรือกำหนดกรอบก่อนการเจรจาเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ

สมชาย แสวงการ

อดีตสมาชิกวุฒิสภา

17 พ.ย.2567

ขอบคุณ ข้อมูลจาก พลรอ ถนอม เจริญลาภ ดร อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อดีต สว คำนูณ สิทธิสมาน พลรอ พัลลภ ตมิศานนท์  รวมถึงอดีตผู้รู้และสื่อมวลชนหลายท่าน

ที่มิได้เอ่ยนาม