ชาวนาบุรีรัมย์เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนทั้งค่าไถ ค่าปุ๋ย และค่าจ้างรถเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อนำผลผลิตไปขายกลับได้ราคาต่ำไม่คุ้มทุน เผยปีนี้ค่าเกี่ยวแพงขึ้นไร่ละ 50 - 100 บาท ชี้โครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์ชาวนา
(17 พ.ย.67) ชาวนาในตำบลสระบัว อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่างนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวแล้ว ไปตากตามลานหรือที่โล่งต่างๆ ในหมู่บ้าน เพื่อไล่ความชื้นก่อนจะนำไปขายตามลานหรือโรงสีที่เปิดรับซื้อ เพื่อนำเงินไปเป็นค่าเก็บเกี่ยวและใช้จ่ายในครอบครัว โดยชาวนาบางคนต้องตัดสินใจนำข้าวเปลือกที่เกี่ยวสดไปขายโดยไม่ตาก แม้จะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 11 – 12 บาทก็ตาม เพราะจำเป็นต้องนำเงินจ่ายค่ารถเกี่ยว และค่าปุ๋ยที่ค้างเอาไว้ เพราะโครงการปุ๋ยคนละครึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์ชาวนาจึงไม่เข้าร่วมโครงการฯ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เหมือนที่ผ่านมา เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับชาวนา เนื่องจากปีนี้ชาวนาต้องแบกรับภาระต้นทุนทั้งค่าไถพรวนและไถดะไร่ละ 500 บาท ซื้อพันธ์ข้าว ปุ๋ยกระสอบละ 800 บาท และต้องจ่ายค่าเก็บเกี่ยวเฉลี่ยไร่ละ 550 – 600 บาท ซึ่งปีนี้ค่าเกี่ยวแพงขึ้นจากปีที่ผ่านมาไร่ละ 50 – 100 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ดังนั้นหากรัฐบาลช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวก็จะสามารถแบ่งเบาภาระชาวนาได้
นายสมศรี กุนไธสง ชาวนาบ้านหนองหัวแคน อ.แคนดง บอกว่า ปัญหาในการทำนาปีนี้ช่วงต้นฤดูก็จะประสบปัญหาน้ำท่วมเมล็ดข้าวช่วงที่ไถหว่านไว้ ทำให้ต้องข้าวงอกไม่เต็มที่บางรายต้องหว่านแซม 2 รอบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนที่รัฐมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งก็ไม่ตอบโจทย์จึงไม่เข้าร่วม ส่วนราคารับซื้อช่วงนี้ก็ยังถือว่าต่ำกิโลกรัมละ 11 – 12 บาท หากเป็นไปได้ก็ไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 15 บาทถึงจะไม่ขาดทุน จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็อยากให้รัฐช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้กับชาวนาด้วย
เช่นเดียวกับนายเปรมวิทย์ ชาวนาบ้านหนองหัวแคน อีกราย ก็บอกตรงกันว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับชาวนาด้วย ส่วนโครงการปุ๋ยคนละครึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์โดยตรงกับชาวนา เพราะชาวนาต้องสำรองเงินก่อนครึ่งหนึ่งทั้งเป็นปุ๋ยที่รัฐกำหนดให้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ใช้ปุ๋ยสูตรไม่เหมือนกัน ก็อยากให้รัฐพิจารณาทบทวนโครงการไร่ละพันด้วย.