วันที่ 15 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายกันย์ ศรีสมพงษ์ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ("บริษัทฯ") ขอเรียนชี้แจงคำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 (ไตรมาส 3) โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มัลดีฟส์ ดูไบและญี่ปุ่น 1.1 การท่องเที่ยวไทย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3/2567 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 8.6 ล้านคน เติบโต 21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นสำคัญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 75% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนเติบโตสูงสุด 73% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 0.8 ล้านคน เป็น 1.8 ล้านคน ในไตรมาส 3/2567 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 21%, มาเลเซีย 15% และ อินเดีย 6% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
สำหรับ 9 เดือนปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 26.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.0 ล้านคน หรือเติบโต 30% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากนักท่องเทียวชาวจีนเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านคน เทียบปีก่อน คิดเป็น 46% ของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ จีน 20%, มาเลเซีย 14% และ อินเดีย 6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ส่วน 1.2 การท่องเที่ยวมัลดีฟส์ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3/2567 รวมทั้งสิ้น 476,498 คน เติบโต 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวยุโรป 17% เทียบปีก่อน โดยมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 51% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่นักท่องเที่ยวเอเชียเติบโต 7% เทียบปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนรวม 36% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียลดลงจำนวน 12,234 คน หรือลดลง 31% เทียบปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 17,859 คน หรือเติบโต 22% เทียบปีที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 21%, รัสเซีย 12% และสหราชอาณาจักร 7% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวรวม 1.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 130,979 คน หรือ 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 75,158 คน เทียบปีก่อน คิดเป็น 57% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียลดลงอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 59,198 คน หรือลดลง 40% เทียบปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ จีน 15%, รัสเซีย 11% และสหราชอาณาจักร 8% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ขณะที่ 1.3 การท่องเที่ยวดูไบ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาส 3/2567 รวมทั้งสิ้น 4.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกเป็นกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 19%, ยุโรปตะวันตก 17%, และ เอเชียใต้16% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวรวม 13.3 ล้านคน เติบโต 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันตก 19%, เอเชียใต้ 17% และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 15% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
อีกทั้ง 1.4 การท่องเที่ยวญี่ปุ่น มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาส 3/2567 รวมทั้งสิ้น 9.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคนหรือ 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะชาวจีนมีจำนวน 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน หรือเติบโตประมาณ 1.2 เท่า เทียบปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก คิดเป็น 64% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ได้แก่ จีน 24%, เกาหลีใต้ 22% และ ไต้หวัน 18% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวรวม 26.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.5 ล้านคนหรือ 55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านคน เทียบปีก่อน คิดเป็น 38% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ เกาหลีใต้ 24%, จีน 20% และ ไต้หวัน 17% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
พร้อมกันนี้ นายกันย์ กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 3/2567 มีผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 ปรับตัวดีขึ้นเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปรับตัวลดลงเทียบไตรมาส 2/2567 เป็นไปตามฤดูกาลท่องเที่ยว บริษัทฯมีรายได้รวม 5,602 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 5,416 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 3%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหารทรงตัวเทียบปีก่อนอยู่ที่ 43% : 57% ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 2,910 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 2,908 ล้านบาท) โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 54% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 56%) บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,348 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 1,165 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 183 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 16%) เทียบไตรมาส 3/2566
โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 24% ดีขึ้น เทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 22%) เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรับรู้ (ขาดทุน) กำไรตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าดีขึ้นเทียบปีก่อน บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105 ล้านบาท หรือ 27% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 163 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 73 ล้านบาท) เติบโต 123% เทียบปีก่อน
สำหรับไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ รับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 8 ล้านบาท (ไตรมาส 3 /2566: 3 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว (One-time items) ซึ่ง ประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายก่อนการเปิดดำเนินงาน (pre-opening expense) ของโรงแรมมัลดีฟส์แห่งใหม่ทั้ง 2 โรงแรม จำนวน 11 ล้านบาท และ 2) ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าในค่าความนิยมแบรนด์บราวน์ คาเฟ่ จำนวน 21 ล้านบาท
อีกทั้ง 4) รวมค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ทและสปา มัลดีฟส์ จำนวน 106 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: ไม่มี)
9 เดือน ปี 2567: บริษัทฯมีรายได้รวม 17,838 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: 16,530 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,308 ล้านบาท (หรือ 8%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหารอยู่ที่ 46% : 54% (สำหรับ 9 เดือนปี 2566: 44% : 56%) ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 9,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 595 ล้านบาท หรือ 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 57% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 4,607 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: 4,060 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 547 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 13%) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 26% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน (9 เดือน ปี 2566 : 25%) จากอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร บริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 2,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 398 ล้านบาท เทียบปีก่อน (หรือเติบโต 22%) และกำไรสุทธิจำนวน 1,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เทียบปีก่อน (9 เดือน 2566: 823 ล้านบาท)
สำหรับ 9 เดือน 2567 บริษัทฯ รับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 69 ล้านบาท (9 เดือน 2566: 66 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว (One-time item) ซึ่งประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายก่อนการเปิดดำเนินงาน (pre-opening expenses) ของโรงแรมมัลดีฟส์แห่งใหม่ทั้ง 2 โรงแรม จำนวน 12 ล้านบาท 2) ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าในค่าความนิยมแบรนด์บราวน์ คาเฟ่ จำนวน 21 ล้านบาท และ 3) ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ทและสปา มัลดีฟส์ จำนวน 106 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม 2.2 วิเคราะห์ผลการดำเนินงานรายธุรกิจ 2.2.1 ธุรกิจโรงแรม ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 92 โรงแรม (20,505 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 52 โรงแรม (11,101 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 40 โรงแรม (9,404 ห้อง) ในส่วน 52 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 20 โรงแรม (5,566 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 32 โรงแรม (5,535 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร
ขณะที่ นายกันย์ กล่าวว่า ไตรมาส 3/2567 มีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPAR) 3,429 บาท ในไตรมาส 3/2567 ลดลง 7% เทียบไตรมาส 2/2567 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) 5% เทียบไตรมาสก่อน เป็น 4,934 บาท ในไตรมาส 3/2567 และอัตราการเข้าพัก (OCC) ลดลงจาก 71% ในไตรมาส 2/2567 เป็น 69% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาลท่องเที่ยวปกติ โดยไตรมาส 3 อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยวโดยเฉพาะญี่ปุ่นและดูไบ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูร้อน
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPAR) ในไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้น 7% จากการเพิ่มของราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) 6% ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) ทรงตัวที่ 69% เทียบไตรมาส 3/2566 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของโรงแรมในประเทศไทย และโรงแรมในญี่ปุ่น
โดยมีรายละเอีดดังนี้ กรุงเทพฯ: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เพิ่ม 15% อยู่ที่ 3,388 บาท จากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพัก (OCC) จาก 77% เป็น 83% และราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,060 บาท ส่วน ต่างจังหวัด: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) ลดลง 3% เป็น 2,535 บาท ผลจากการลดลงของอัตราการเข้าพัก (OCC) จาก 64% เป็น 57% เนื่องจากผลกระทบของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหญ่ อย่างไรก็ตามที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,440 บาท ทั้งนี้ ภาพรวมของโรงแรมอื่น RevPAR ยังคงเติบโตได้ดีเทียบปีก่อน โดยเฉพาะโรงแรมที่ภูเก็ตและสมุย โดยหากไม่รวมผลการดำเนินงานของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) จะเติบโต 11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านตลาด ต่างประเทศ: ที่มัลดีฟส์: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) ลดลง 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 6,409 บาท โดยอัตราการเข้าพัก (OCC) ลดลงจาก 70% เป็น 64% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 10,051 บาท ทั้งนี้ หากพิจารณาในสกุลดอลลาร์สหรัฐ รายได้ทั้งหมดต่อห้องพักเฉลี่ย (TRevPAR) ลดลง 9% เทียบปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 308 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วน ดูไบ มีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) 4,265 บาท เพิ่มขึ้น 1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้นจาก 77% เป็น 87% ในขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ลดลง 11% เทียบปีก่อน เป็น 4,877 บาท ทั้งนี้ การลดลงของราคาห้องพักเฉลี่ยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปในช่วงต้นไตรมาส 3/2567 เทียบปีก่อน จากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่ฝรั่งเศส ขณะที่ได้กลุ่มลูกค้าในประเทศมาชดเชยในอัตราห้องพักเฉลี่ยที่ต่ำกว่า ประกอบกับในเดือนกันยายน โรงแรมดำเนินการปรับปรุงสวนน้ำบางส่วน จึงมีการปรับกลยุทธ์ด้านการขายและการตลาดเพื่อรักษาระดับรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย ญี่ปุ่น: อัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้นจาก 67% เป็น 78% ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 15% เป็น 7,096 บาท และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) 5,549 บาท เพิ่มขึ้น 34% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเติบโตจากฐานปีก่อนซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มเปิดดำเนินงาน
พร้อมกันนี้ ในไตรมาส 3/2567 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 4%) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,219 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 1,247 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% โดยอัตรากำไรขั้นต้นลดลงอยู่ที่ 55% (ไตรมาส 3/2566: 58%) จากผลกระทบการปรับปรุงโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของโรงแรมในมัลดีฟส์ ธุรกิจโรงแรมมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 606 ล้านบาท) จากผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทย และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ โอซาก้า เป็นสำคัญ โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 27% เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 26%) ธุรกิจโรงแรมมีกำไรสุทธิจำนวน 19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% เทียบปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: ขาดทุน 55 ล้านบาท)
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/2567 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 3,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (หรือเพิ่มขึ้น 3%) โดยบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (%SSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร เพิ่มขึ้นเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2% (ไตรมาส 3/2566: 0%) ขณะที่ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร อยู่ที่ 4% ทรงตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้อัตราการเติบโตของรายได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาจากแบรนด์ มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้แอนส์ , โอโตยะ และเปปเปอร์ลันช์ เป็นสำคัญ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,396 สาขา (รวมแบรนด์ร่วมทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ลดลง 206 สาขา เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 3/2566 (ลดลง 213 สาขา เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2/2567) เนื่องจากเปลี่ยนวิธีการนับสาขา
โดยนับรวมสาขาแบรนด์อาริกาโตะที่ตั้งอยู่ในแบรนด์มิสเตอร์โดนัท (Shop-in-shop) เป็น 1 สาขา จากเดิมนับเป็น 2 สาขา คงเหลือเฉพาะสาขาที่ตั้งแยกต่างหาก (Standalone outlet) ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 สาขา อย่างไรก็ดี หากนับจำนวนสาขาภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ไตรมาส 3/2566 จะมีสาขารวมคงเหลือ 1,399 สาขา ทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 ทั้งนี้ในส่วนของแบรนด์อื่นๆ ที่มีการขยายสาขาอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ชินคันเซ็น ซูชิ (+17) อานตี้ แอนส์ (+14) สลัดแฟคตอรี (+9) โอโตยะ (+7) และเค เอฟ ซี (+7) ทั้งนี้บริษัทฯ มีการปิดสาขาแบรนด์ อร่อยดี (-21) และ แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (-14) เนื่องจากรายได้หลักของแบรนด์มาจากช่องทางเดลิเวอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก การปิดสาขาเพื่อปรับปรุงอัตราการทำกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น
สำหรับ ในไตรมาส 3/2567 ธุรกิจอาหาร มีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,691 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 1,661 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 53% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 54%) บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 684 ล้านบาท เติบโต 22% (ไตรมาส 3/2566: 559 ล้านบาท) โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) เพิ่มขึ้นจาก 18% ในไตรมาส 3/2566 เป็น 22% ในไตรมาส 3/2567 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการทำกำไรแบรนด์หลัก, การปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และการรับรู้กำไรในกิจการร่วมค้าตามวิธีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 128 ล้านบาท) โดยมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของรายได้ธุรกิจอาหาร (ไตรมาส 3/2566: 4%)
ส่วน ผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารมีความผันผวนตามฤดูกาลบ้างแต่ไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งโดยปกติแล้ว ไตรมาสที่ 2 และ ไตรมาสที่ 4 จะมียอดขายสูงกว่าไตรมาส 1 และ 3 เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมและมีวันหยุดเฉลิมฉลองตามเทศกาล และยอดขาย delivery ในไตรมาส 3 มักจะได้รับผลกระทบเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ดี สำหรับไตรมาส 3/2567 แม้รายได้น้อยกว่า แต่กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเทียบไตรมาส 2/2567 โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 18% ในไตรมาส 2/2567 เป็น 22% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของแบรนด์หลัก, การรับรู้กำไรตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าเพิ่มขึ้น และปัจจัยบวกจากการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร
อย่างไรก็ตาม นายกันย์ กล่าวว่า ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนปี 2567 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 9,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 381 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 4%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (%SSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร 2% (9 เดือน 2566: 4%) ขณะที่ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS)ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร อยู่ที่ 4% (9 เดือน 2566: 9%) ธุรกิจอาหารมีกำไรขั้นต้น 5,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 54% ทรงตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 1,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (9 เดือน ปี 2566: 1,719 ล้านบาท) โดยมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 19% (9 เดือน ปี 2566: 18%) ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 402 ล้านบาท เติบโต 14% เทียบปีก่อน (9 เดือน 2566: 354 ล้านบาท)
ส่วน 3.สถานะทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 56,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,333 ล้านบาท หรือ 4% เทียบกับสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์จำนวน 3,621 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการก่อสร้าง 2 โรงแรมใหม่ที่มัลดีฟส์ ขณะที่ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นลดลง 334 ล้านบาท, สินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นลดลง 202 ล้านบาท, เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลงจำนวน 189 ล้านบาท, สินค้าคงเหลือลดลง 132 ล้านบาท และเงินลงทุนในการร่วมค้าลดลง 130 ล้านบาท เทียบสิ้นปี 2566 หนี้สินรวม มีจำนวน 36,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,432 ล้านบาท หรือ 7% เทียบสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,013 ล้านบาท, เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 1,168 ล้านบาท เทียบสิ้นปี 2566
อีกทั้ง บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 19,919 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2566 จำนวน 99 ล้านบาท จากกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 2567 จำนวน 1,086 ล้านบาท สุทธิด้วยเงินปันผลจ่าย 567 ล้านบาท และการลดลงของผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวน 538 ล้านบาท และการลดลงของส่วนของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อยจำนวน 80 ล้านบาท
สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 4,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,113 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน กระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 4,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,934 ล้านบาท (9 เดือน 2566: 1,357 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จำนวน 4,448 ล้านบาท บริษัทฯมีกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 27 ล้านบาท ลดลง 3,197 ล้านบาท (หรือ 99%) เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระคืนเงินต้นของหนี้สินตามสัญญาเช่า 1,144 ล้านบาท, จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 567 ล้านบาท, เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 1,171 ล้านบาท และมีเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 1,144 ล้านบาท
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
ขณะที่ 4. ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดำเนินงาน ในส่วนของธุรกิจโรงแรม ทางบริษัทฯยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้วยความระมัดระวังโดยการปรับกลยุทธ์ทางการขายและตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง การติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย เน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ การมีวินัยทางการเงิน ขณะที่บริษัทฯยังคงการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคต ด้วยการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่เหมาะสมจากการกู้ยืมเงินสถาบันการเงิน และการออกตราสารหนี้ตามภาวะตลาดการเงิน