จังหวัดสมุทรสงคราม และประมงสมุทรสงคราม ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนภาครัฐ เอกชน ชุมชน และชาวประมงในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำตามแผนปฏิบัติการของกรมประมงอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยบูรณาการองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและพื้นที่เพื่อควบคุมและลดจำนวนปลาหมอคางดำ พร้อมเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสช่วยสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และฟื้นฟูระบบนิเวศและคืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ธรรมชาติและชุมชน

ล่าสุด จังหวัดสมุทรสงครามผนึกพลังกับประมงจังหวัด นำโดย นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และนายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมกับคณะขับเคลื่อนนโยบายของกรมประมง(FC) เรือนจำกลางสมุทรสงคราม และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) จัด กิจกรรมลงแขกลงคลอง เพื่อขับเคลื่อนการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ ครั้งที่ 1/2568  ในบริเวณบ่อพักน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม และบริเวณบ่อพักน้ำข้างศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ สามารถจับสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 263 กิโลกรัม แบ่งเป็นปลาหมอคางดำ 63 กิโลกรัม และปลาพื้นถิ่น จำนวน 200 กิโลกรัม และได้ดำเนินการส่งมอบปลาหมอคางดำให้กับเรือนจำกลางสมุทรสงคราม เพื่อนำไปหมักทำเป็นน้ำปลาต่อไป

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กิจกรรมการจับปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำทั้งสองแห่งครั้งนี้ เป็นการติดตามสำรวจปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำที่เคยจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำแล้วหลายครั้ง ปัจจุบัน จากการจัดกิจกรรมจับปลาออกจากแหล่งน้ำและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่เบาบางลง ปลาที่จับได้มีขนาดเล็กลง หมายถึงว่าปลาพ่อแม่พันธุ์ลดลง และผลจากการปล่อยลูกปลากะพงขาวเป็นปลานักล่าในพื้นที่ต่างๆ  พบปลาหมอคางดำตัวขนาดเล็กน้อยลง  อย่างไรก็ตาม จังหวัดยังให้ความสำคัญกับการจัดการปลาหมอคางดำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ นอกจากการจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จังหวัดสมุทรสงครามริเริ่มเป็นแห่งแรกแล้ว ประมงสมุทรสงครามยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางที่จูงใจให้เกิดการจับปลาชนิดนี้ออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาประมงสมุทรสงคราม ร่วมมือกับเรือนจำกลาง และซีพีเอฟ นำปลาหมอคางดำที่จับได้นำไปผลิตน้ำปลาเป็นสินค้ากรมราชทัณฑ์ ภายใต้ ชื่อ น้ำปลาปลาหมอคางดำตรา“หับเผย แม่กลอง” นอกจากนี้ เรือนจำกลางสมุทรสงครามยังนำปลาไปปรุงเป็นอาหารให้กับเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง สำหรับปลาตัวเล็กๆ นำไปเป็นเหยื่อเลี้ยงเป็ดและปลา นอกจากนี้ ยังขยายผลสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร 2 แห่งนำปลาหมอคางดำหมักเป็นปลาร้า ซึ่งเกษตรกรได้ปรับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลาส้ม และปลาร้าสับ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการผลิตเพื่อจำหน่ายสั้นกว่าปลาร้าทำให้เกษตรกรได้รายได้รวดเร็วขึ้น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนา บ้านคลองตาจ่า ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาร้าจากปลาหมอคางดำ เช่น ปลาส้ม  ปลาร้าข้าวคั่ว  แจ่วบอง  น้ำพริกเผาปลาร้า

​​​​​​​

นายบัณฑิตกล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องรับความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และชาวประมง  รวมถึงประชาชนที่ช่วยกันนำปลาไปใช้ประโยชน์ แปรเปลี่ยนจากปลาที่เป็นตัวปัญหาสู่ปลาเศรษฐกิจ และหนุนความมั่นคงทางอาหารอีกทางหนึ่ง