ในยุคของ “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศ 2 ปี โดยจะเกษียณตุลาคม 2568 ถือว่าได้สร้างประวัติศาสตร์ จารึกไว้ในกองทัพอากาศ ถึง 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ. การเลือกซื้อเครื่องบิน Gripen E/F จากSAAB สวีเดน แทนที่จะเป็น F 16 Block 70 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อมาทดแทนเครื่อง F 16 ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี 2531 ที่กองบิน1 นครราชสีมา ที่กำลังจะปลดประจำการ หลังปี 2570 นี้
แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากมหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯนักหนาเพียงใด แต่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ก็วางแผน เดินเกม อย่างเป็นระบบ ในการทำให้กองทัพอากาศ บรรลุเป้าหมาย คณะกรรมการของทอ. มีมติเลือกเครื่องบิน Gripen
รวมทั้งการสร้างความเข้าใจ กับ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯในเวลานั้น จนได้รับการสนับสนุน เห็นพ้องกับ ทอ. ในการเลือก เครื่องบิน Gripen จากสวีเดน โดยเฉพาะ การมีผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ กลับคืนสู่ประเทศ ชดเชยกับงบประมาณ หลายหมื่นล้าน ที่ต้องจ่ายไป ที่ทำให้คำว่า Offset Policy เป็นที่พูดถึง และ เป็นจุดเปลี่ยนที้ช่วยให้ สวีเดน ชนะ สหรัฐฯ
แม้ว่าตอนนี้ รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” จะยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุม ครม. แต่คาดว่า จะไม่อาจเปลี่ยนแปลง การตัดสินใจของ ทอ. ที่เลือก Gripen ได้ เพราะ ทอ. ได้ประกาศผลการคัดเลือก แล้ว และ ผบ.ทอ. ก็ให้สัมภาษณ์ยืนยัน ว่า Gripen คือคำตอบ ที่ ทอ.เลือก
แม้สหรัฐฯ จะพยายาม เจรจากับ รัฐบาลไทย ในการให้โอกาสในการพิจารณา จัดซื้อ F16 ด้วยข้อเสนอพิเศษ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ ทาง ทอ. มองว่า ทอ. ควรมีสถานะ การเป็นลูกค้า ไม่ต้องการ เป็น ลูกหนี้
หรือแม้แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ที่แม้จะรับหน้าที่ ในเดือนม.ค.2568 แต่ ก็เกิดกระแสข่าวลือว่า อาจส่งผลต่อการเลือก เครื่องบิน เพราะ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สนิทสนมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตาม แต่ ทาง ทอ. ก็มั่นใจว่า จะไม่มีผล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนความเปลี่ยนแปลงสำคัญ อีกประการ คือ ทอ.ยุคนี้ จะต้องเตรียมพร้อม ในการเกิดขึ้นของ กองทัพอวกาศ ด้วยการเตรียมร่าง พรบ.รักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศ หรืออาจเรียกว่า กอ.รมน. อากาศ เพื่อให้ครอบคลุม พื้นที่เหนือพื้นดิน ไปจนถึงอวกาศ
โดยจะเริ่มจากการ ตั้ง ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศ (ศร.ชอ.) ขึ้นมา เตรียมการ เบื้องต้นก่อน โดยมี เสนาธิการ ทอ. เป็น ผอ.ศูนย์ฯ แต่ยังใช้กรอบอำนาจของ ทอ. เพราะยังไม่มี กฎหมายที่ให้อำนาจ โดยตรง
โดยใช้ต้นแบบ จาก กอ.รมน. ทางบก ที่มี พรบ.ความมั่นคง ปี 2551 และ ต่อมา ทร. ตั้ง ศรชล. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมี พรบ. รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ปี 2560 รองรับ
กล่าวได้ว่า มี กอ.รมน.ทางบก และ กอ.รมน.ทะเล จากนี้ไป ทอ. เตรียมเสนอ ตั้ง กอ.รมน. อากาศ และ อวกาศ
ด้วยเพราะ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะ ด้าน Cyber และต้องพัฒนา space domain ให้เร็วที่สุด เพราะหลายประเทศ เตรียม ป้องกันภัยจาก อวกาศกันแล้ว
นี่อาจเป็น มิชชั่น ส่งท้าย ที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี จะบุกเบิกไว้ให้ ทอ.