วันที่ 15 พ.ย.67 ที่สำนักการจราจรและขนส่ง นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เปิดเผยว่า หลังจากที่ กทม.เริ่มเก็บค่าบริการรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการในวันธรรมดาประมาณ 9,000 คนต่อวัน ได้ค่าโดยสารประมาณวันละ 100,000 บาท ขณะที่ก่อนเก็บค่าโดยสารมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 12,000 คนต่อวัน
ปัจจุบันมีรถ BRT-EV จำนวน 23 คัน ในชั่วโมงเร่งด่วนมีผู้ใช้บริการจำนวนมากและด้วยสภาพการจราจรหนาแน่น จึงได้ปรับแผนการเดินรถ โดยเพิ่มความถี่การบริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนให้มากขึ้น โดยตัดเส้นทางจากวิ่งรถระยะยาวในชั่วโมงเร่งด่วนปรับเป็นแบ่งวิ่ง Short Loop ใช้รถ 4 คัน เดินรถวนรอบสั้น ตามข้อมูลป้ายที่มีผู้โดยสารใช้บริการมาก เพื่อให้ตรงกับทรัพยากรที่มีและสามารถให้บริการได้ตรงความต้องการประชาชน
ส่วนแผนการขยายเส้นทางเดิมที่จะขยายไปสาทร ต้องพิจารณาหลายประเด็น 1.จำนวนรถที่มีอยู่ 23 คัน อาจจะไม่เพียงพอให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนทำให้ผู้โดยสารต้องรอนาน 2.หากขยายไปสาทรต้องขอทำ Bus Lane วิ่งร่วมกับมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีบางกลุ่มเห็นด้วยบางกลุ่มคัดค้าน ขั้นตอนจะต้องให้ทางตำรวจเห็นด้วย มีการทำประชาพิจารณ์ และขออนุญาตกรมการขนส่งทางบก ในเส้นทางวิ่งที่จะขยายไป เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการที่มีการวิ่งรถบนถนนสาทร
ส่วนการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) เพื่อรองรับรถเมล์ BRT รุ่นใหม่ ทั้ง 12 สถานีนั้นอยู่ระหว่างการประกวดราคา คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ โดย สจส.กำหนดราคากลางไว้ที่ 17,950,000 บาท และต้องปรับปรุงสถานีให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 200 วัน
อย่างไรก็ตาม กทม. ได้เริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 หลังจากให้บริการรถ BRT-EV ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาท ผู้สูงอายุ 11 บาท โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบการชำระเงินรูปแบบต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้บริการ สามารถชำระได้โดยบัตรแรบบิท หรือชำระผ่าน Line OA : BRT E-ticket สอบถามข้อมูลการชำระค่าโดยสารที่ Line : BRT E-ticket, แรบบิทฮอตไลน์ 02-6178383 หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานี หรือติดต่อสอบถามรายละเอียด-แนะนำการให้บริการได้ที่ โทร.063-8326774 และ E-mail : [email protected]