"กกต." ประชุม "ผอ.เลือกตั้ง" 76 จังหวัด เตรียมพร้อมรับเลือกตั้ง อบจ. ด้าน "แสวง" ชี้นายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระทำเปลืองงบฯ – คน ต้องจัดเลือก 2 รอบ วอนที่เหลือลาออกหลัง 3 ธ.ค.เพื่อให้จัดเลือกตั้งพร้อมกัน มองสนามอุดรฯ แม้แข่งเดือด แต่ช่วยกระตุ้นคนใช้สิทธิมากขึ้น ยันหาเสียงอยู่ในกรอบกฎหมาย เผยพร้อมให้ข้อมูลแก้กฎหมายประชามติ 20 พ.ย.นี้

 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.67 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดประชุมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด 76 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 280 คนชี้แจงเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) โดยนายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กกต.กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งทุกครั้งจะมีองคาพยพค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งโดยมีสำนักงาน กกต. เป็นผู้สนับสนุน เพิ่งจะให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจข้อกฎหมาย และระเบียบการเลือกตั้ง

 การเลือกตั้งทุกครั้งมีความสำคัญ ซึ่งก่อนการลงคะแนนคือการลงสมัคร โดยเฉพาะการวินิจฉัยสิทธิสมัคร ที่เป็นภาระหนักของปลัดอบจ.หลังเลือกตั้งปัญหาที่เกิดขึ้นคือการนับคะแนน ซึ่งอยากเสนอว่าเรามีสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้งอยู่แม้ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดก็ขอให้บันทึกว่าไม่มีเหตุการณ์ เพราะสิ่งเหล่านั้นจะใช้เป็นพยานหลักฐานเวลามีเรื่องร้องเรียนว่าในวันนั้นเวลานั้นเกิดอะไรขึ้น

 นายสันทัด ยังขอให้แต่ละจังหวัดได้ทำความเข้าใจกับประชาชนกรณีกกตกำหนดให้มีการเลือกอบจในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ 68 ว่า ข้อกฎหมายกำหนดว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันซึ่งอบจ. ชุดนี้จะครบวาระในวันที่ 19ธ.ค.67 หากคิดที่45วันคือวันอาทิตย์ที่2ก.พ.68 สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือต้องทำกระบวนการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงในแง่ของข้อกฎหมาย จึงเป็นต้องขยับเข้ามาเป็นวันที่ 1 ก.พ.

 ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การเลือกตั้งนายกอบจ.ที่กำลังจะมาถึงนี้ อาจมีปัญหาเช่นกัน แต่ด้วยความร่วมมือขององคาพยพซึ่งทำงานร่วมกันมาก็จะทำให้การเลือกตั้งนายกอบจ.และส.อบจ. ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบางจังหวัดจะต้องเลือก 2 ครั้งเพราะมีการลาออกของนายก ข้อมูลตอนนี้มี 29 จังหวัด โดยในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.67 จะมี 3 จังหวัดที่จะต้องจัดการเลือกตั้งประกอบด้วย อุดรธานี เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช และในสัปดาห์ถัดไปเป็นการเลือกนายกอบจ.กำแพงเพชร ขณะที่บางจังหวัดก็ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง
 ทั้งนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจากนี้ไปจนถึงการครบวาระจะมีการลาออกอีกหรือไม่ ซึ่งทำให้ต้องมีการเลือก 2 ครั้งคือเลือกนายกอบจ. และสมาชิกอบจ.ต้องใช้งบประมาณ 2 ครั้ง และคนเลือกต้องลงแรง 2 ครั้ง

 นายแสวง กล่าวว่า อยากจะส่งสัญญาณไปยังนายกอบจ.ที่กำลังคิดจะลาออกว่าเพื่อเป็นการประหยัดงบฯ ลาออกหลังวันที่ 3 ธ.ค.ก็จะสามารถเลือกพร้อมกันได้ แต่คาดคะเนว่าการลาออกเป็นเหตุผลทางการเมือง และเหตุผลทางข้อกฎหมาย ที่ห้ามหาเสียงใน 180 วัน
 "พูดไปก็ไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรหรือไม่ เพราะทางการเมืองเขาคงตัดสินกันไปแล้ว เพียงแต่ส่งสัญญาณไปว่า หากเห็นแก่เรา หรือเห็นแก่ประโยชน์ในการประหยัดงบฯ ก็คิดว่าลาออกแบบประหยัดงบฯ คงดีกว่า"
 นายแสวง กล่าวด้วยว่า กกต. พร้อมจัดการเลือกตั้งโดยยึดหลักการ 4 ข้อ คือ 1.ความเป็นเจ้าของ 2.การมีส่วนร่วม 3.ความโปร่งใสทุกขั้นตอน ซึ่งคิดว่าประเทศไทยมีความโปร่งใสที่สุดแล้ว ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 4. ประสิทธิภาพ ซึ่งมักพบปัญหาหลังปิดลงคะแนนแล้ว มีเรื่องร้องเรียนเกินครึ่งมาจากการนับบัตร หรือบัตรเขย่ง ดังนั้นแต่ถ้าเราละเอียดขึ้นใส่ใจขึ้น ก็จะไม่มีเรื่องที่จะทำให้คนนำไปเสียดสี แต่เราก็ทนได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม

 กกต.อยู่ระหว่างนำมติศาล หรือมติกกต.ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร มาจัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นที่จะต้องวินิจฉัยเรื่องการรับสมัคร
 นายแสวง ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงความเหมาะสมของการใช้เทคนิคในการลาออกเพื่อเลี่ยงการกรอบเวลา180 วัน ว่า ในฐานะคนจัดการเลือกตั้งไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้ ให้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาดูว่ามันควรจะเป็นแบบนี้หรือไม่ เพราะคนที่ออกแบบมาต้องการให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนนำไปใช้กลับนำไปใช้เพื่อประโยชน์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันก็มีช่องว่างถ้าจะมีการแก้กฎหมายทางสำนักงานก็น่าจะมีความเห็นให้ได้ แต่ในชั้นนี้ตนไม่อยากให้ความเห็นอะไรเพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมตนมองว่าคนที่ลาออกก็น่าจะมีเหตุผล ไม่ว่าจะเหตุผลทางกฎหมายหรือเหตุผลทางการเมืองในพื้นที่

 เมื่อถามถึงการเลือกนายกอบจ.อุดรธานี ที่มีการแข่งขันสูง กกต.จะมีการจับตาจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ถ้าพูดจริงๆ คือกกต.ชอบ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสนใจและตื่นตัวไปออกเสียงลงคะแนน ซึ่งการทยอยเลือกที่ผ่านมาประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อย เพราะอาจจะมีข่าวอื่นมากลบบ้าง แต่ที่จ.อุดรธานีเมื่อผู้ช่วยหาเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนลงไปในพื้นที่ทำให้มีความน่าสนใจทั้งในแง่สื่อและประชาชน น่าจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมากขึ้น และเท่าที่ติดตามพบว่าการหาเสียงยังอยู่ในกรอบ การแข่งขันสูงหรือเข้มข้นไม่ได้บอกว่าจะผิดกฎหมาย ยอมรับว่ามีโอกาสที่จะผิดกฎหมายอยู่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องบอกว่าไม่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น สู้กันที่วิธีคิด นำเสนอนโยบายมากกว่าที่จะไปใช้วิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดูจากการติดตามการเลือกตั้ง อบจ.หลายแห่งพบว่าเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น และประชาชนยังไปใช้สิทธิ์น้อย

 เลขากกต.ยังกล่าวถึงงบประมาณในการจัดการเลือกนายกอบจ.ว่า แต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน โดยงบในการบริหาร 90% เป็นของท้องถิ่น ส่วนอีก 10% เป็นของกกต. ซึ่งจะใช้เพื่อควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้นขนาดของท้องถิ่น หรือจำนวนเขตจึงมีผลกับการใช้งบฯ ว่าจะมากหรือน้อย แต่อย่างที่บอกว่า หากเลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็ต้องคูณ 2 เช่น จังหวัดหนึ่งมี 10,000 หน่วย เลือกนายกอบจ.ที่ลาออกไปก่อนแล้ว ก็หมื่นหน่วย ผู้มีสิทธิก็เท่ากัน พอจะเลือกสมาชิกอบจ.ก็ต้องทำเหมือนกันหมดบางคนบอกว่า เป็นผลดี เพราะทำให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิน้อยลง เพราะเลือกนายกอบจ.ไปก่อนแล้ว ซึ่งถ้าเลือกพร้อมกัน ความชอบธรรมของคนใช้สิทธิก็จะมากขึ้น

 เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการร่วมศึกษากฎหมายประชามติ ส่งหนังสือเชิญกกต.ไปร่วมหารือเกี่ยวกับการทำประชามติในการจัดแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ นายแสวง กล่าวว่า ได้มีการเชิญกกต.ไปให้ความเห็นในวันที่ 20 พ.ย. นี้ หากตนไม่ติดภารกิจอะไรก็จะเดินทางไปชี้แจงเอง