เบิกม่าน เปิดฉากการประชุมกันแล้ว สำหรับ “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29” หรือ “ค็อป29”

หลายคนก็ถือเป็น “การประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UN climate summit)” ที่หนึ่งปีจะมีสักครั้ง แต่ละปีก็จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

ส่วนการประชุม “ค็อป29” ในครั้งนี้ ก็ได้เริ่มปิดฉากไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ และจะไปสิ้นสุดในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน หรือสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ที่เรียกว่า “ค็อป29” อันมีหมายเลข 29 นั้น ก็เป็นประชุมสมัยที่ 29 หรือครั้งที่ 29 นั่นเอง สำหรับการประชุมครั้งนี้ ซึ่งในการประชุมสมัยแรก หรือครั้งแรก ครั้งที่ 1 หรือ “ค็อป1” ก็มีขึ้นกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี เมื่อปี 1995 (พ.ศ. 2538) หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว

โดยประเทศที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมค็อป29 ในปีนี้ ก็คือ “อาเซอร์ไบจาน” ประเทศที่ถูกจัดให้เป็น “ประเทศข้ามทวีป” เพราะมีพรมแดนคาบเกี่ยวระหว่างสองทวีปด้วยกัน คือ ทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย โดยพรมแดนของอาเซอร์ไบจานก็อยู่ระหว่าง “ยุโรปตะวันออก” กับ “เอเชียตะวันตก”

ทั้งนี้ ทางอาเซอร์ไบจาน ได้ให้ “กรุงบากู” อันเป็นเมืองหลวง และเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นสถานที่จัดประชุมที่กำลังมีขึ้น

สถานที่จัดประชุมค็อป19 ในกรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน (Photo : AFP)

ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีขึ้นเกือบตลอด 2 สัปดาห์ที่กรุงบากู ก็มีมากกว่า 32,000 คน ซึ่งได้ลงทะเบียนว่าจะเข้าร่วมประชุม “ค็อป29” ในปีนี้

โดยกว่า 32,000 คน ที่เข้าร่วมประชุมข้างต้น ก็เป็นตัวแทนจาก 198 ประเทศสมาชิกที่ได้ร่วมลงนามให้สัตยาบันในการประชุมเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศครั้งก่อนๆ กอปรด้วยนักการทูต สื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ สมาชิกองค์กรนอกภาครัฐหรือเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงบรรดาผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกของเรา

บรรยากาศภายในห้องประชุมค็อป29 ที่กรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน (Photo : AFP)

นอกจากนี้ “ค็อป29” ในครั้งนี้ ยังถือเป็นปีแรกที่มีกลุ่มตาลิบัน ที่ปกครองอัฟกานิสถาน เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่ที่กลุ่มนี้ปกครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) เป็นต้นมา

ก็ทำให้เป็นที่จับตามิใช่น้อย สำหรับ ตัวแทนของกลุ่มตาลีบันจากอัฟกานิสถาน ที่จะตบเท้าเข้าร่วมประชุมค็อปในปีนี้เป็นครั้งปฐม

เฉกเช่นเดียวกับคณะตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ที่ในการประชุม “ค็อป29” นี้ ก็จะเป็นครั้งสุดท้ายของตัวแทนจากรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดวาระไปก่อนวันที่ 20 มกราคมปีหน้า แล้วให้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาบริหารแทนที่ ซึ่งก็คาดหมายกันว่า จะได้รับการจับตาจ้องมองยิ่งกว่าชาติไหนๆ ว่า สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์นั้น จะให้ความสำคัญกับการประชุมค็อปในปีหน้านี้หรือไม่ และจะมีประเด็นอะไรในที่ประชุม เนื่องจากที่ผ่านมานายทรัมป์ ดูจะไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะมาดูแลสภาพภูมิอากาศสักเท่าไหร่ ถึงขนาดเคยมีคำพูดหลุดจากปากนายทรัมป์ วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน นั้น เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์กุขึ้นมา แถมยังเคยพาสหรัฐฯ ออกจากการเป็นชาติสมาชิกของ “ความตกลงปารีส” มาแล้ว ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรกเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งความตกลงปารีสข้างต้น ก็เป็นความตกลงเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดภาวะโลกร้อน ส่วนการประชุมค็อป29 ในปัจฉิมบท คือ ครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนในครั้งนี้ ก็ได้ส่ง “นายจอห์น โพเดสตา” เป็นผู้นำของคณะตัวแทนที่เข้าร่วมประชุม ในฐานะที่นายโพเดสตา ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาระดับสูงด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ” ของประธานาธิบดีไบเดน

อย่างไรก็ดี ในการประชุมค็อปดังกล่าว ที่ผ่านๆ มา รวมไปถึง “ค็อป29” ครั้งนี้ ก็ถูกเสียงข่อนคอดวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ผิดอะไรการประชุม “การเงินค็อป” หรือ “ไฟแนนซ์ค็อป” ที่เหล่าบรรดาตัวแทนของชาติผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเหล่าประเทศที่มีรายได้น้อย ก็จะส่งเสียงเรียกร้องให้บรรดาชาติร่ำรวย โดยเฉพาะชาติที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลปริมาณสูง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับแถวหน้าของโลก เช่น สหรัฐฯ รวมไปถึงจีน ให้เพิ่มเม็ดเงินมาช่วยเหลือจุนเจือชาติยากจนในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งมีหนึ่งในสาเหตุสำคัญก็คือชาติร่ำรวยบริโภคพลังงานเชื้อเพลิงซากฟอสซิล และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศปริมาณสูง

โดยมีรายงานว่า เม็ดเงินที่เรียกร้องขอเพิ่มเติมมีจำนวนสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ในการประชุมค็อป29 ครั้งนี้ ก็มีเสียงตำหนิวิจารณ์จากเหล่าบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านสภาพภูมิอากาศ ที่มีไปถึงชาติเจ้าภาพ คือ “อาเซอร์ไบจาน” ว่า ไม่ผิดอะไรกับการเป็นเวที “การประชุมฟอกเขียว (Greenwash Conference)” ให้แก่ “อาเซอร์ไบจาน”

“เกรตา ทุนเบิร์ก” สาวนักกิจกรรมด้านภูมิอากาศชาวสวีเดน รณรงค์เคลื่อนไหว ในช่วงเวลาเดียวกันกับค็อป29 กำลังประชุม โดยการรณรงค์ดังกล่าว มีขึ้นที่กรุงทบิลิซี จอร์เจีย ประเทศเพื่อนบ้านของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเธอกล่าวว่า ค็อป29 คือ เวทีฟอกเขียวของอาร์เซอร์ไบจาน (Photo : AFP)

เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีว่า ประเทศแห่งนี้ มีระบบเศรษฐกิจที่ใช้การส่งออกน้ำมัน เป็นพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไป โดยมีตัวเลขการส่งออกสูงถึงคิดเป็นร้อยละ 90 เลยทีเดียว

กิจการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ชายฝั่งและนอกชายฝั่งของอาเซอร์ไบจาน (Photo : AFP)

โดยมีตัวเลขตามสถิติของเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ระบุว่า อาเซอร์ไบจานผลิตน้ำมันได้ถึง 33 ล้านตัน ส่วนก๊าซปิโตรเลียมผลิตได้ 3.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร จนประเทศแห่งนี้ถูกยกย่องว่า เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงซากฟอสซิล

กิจการขุดเจาะน้ำมันในอาเซอร์ไบจาน มีขึ้นแม้ในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก (Photo : AFP)

นอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดแล้ว ก็ยังมีรายงานข่าวแบบกระเส็นกระสายเล็ดรอดออกมาด้วยว่า อาเซอร์ไบจานนอกจากส่งออกน้ำมันและก๊าซที่ตนเองผลิตได้แล้ว ประเทศแห่งนี้ก็ไม่ผิดอะไรกับ “มือที่มองไม่เห็น” ในการลักลอบส่งออกน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย ประเทศที่ถูกกลุ่มชาติตะวันตกและพันธมิตรคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ด้านการซื้อขายพลังงาน ไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของอาเซอร์ไบจานอีกต่างหากด้วย

เมื่อเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นพ่อค้ารายใหญ่ด้านพลังงานตามที่กล่าวข้างต้น ก็ทำให้เหล่าบรรดานักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมด้านสภาพภูมิอากาศ ดูออกจะหมดหวังกับการที่จะเห็นข้อตกลงในการที่จะทำให้โลกมีอุณหภูมิไม่เพิ่มขึ้นทะลุเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียลตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับ การประชุมค็อป29 ครั้งนี้