คอหวยแห้ว เลขหางประทัดขบวนเรือแห่ทางน้ำหลวงพ่อโสธรไม่ปรากฏให้นำไปเสี่ยงทาย เผยเป็นปีแรกที่เกิดปากฎการณ์เช่นนี้ ขณะชาวบ้านพร้อมใจรอคอยริมสองฝั่งลำน้ำ รับองค์หลวงพ่อพร้อมเตรียมเครื่องสักการะขอพรอยู่ตามรายทาง ขณะจุดเทียบท่าแห่งแรกผู้คนล้นหลาม เนืองแน่นจนต้องเข้าคิวลงเรือเข้ากราบไหว้ปิดทองนับพันคน  

วันที่ 14 พ.ย.67 เวลา 07.00 น. ที่ท่าน้ำหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา พระเทพภาวนาวชิรคุณ วิ. (ศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดโสธรและเจ้าคณะ จ.ฉะเชิงเทราเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อม น.ส.ฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ประธานฝ่ายฆราวาส ได้ร่วมกันประกอบพิธีปล่อยขบวนเรือแห่ทางน้ำ หลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ในงานนมัสการหลวงพ่อโสธรและงานประจำปี จ.ฉะเชิงเทรา ตามประเพณีประจำท้องถิ่นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายาวนานเป็นครั้งที่ 134 ระหว่างวันที่ 12-24 พ.ย.67 ที่บริเวณวัดโสธรฯ และสนามหน้าศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา

ซึ่งขบวนเรือประกอบด้วยเรือเจ้าท่านำขบวน เรือแห่องค์หลวงพ่อ เรือเครื่องบรรเลงคนตรี และเรือประกอบขบวนจากทั้ง 11 อำเภอรวม 14 ลำ ที่มีการจัดตกแต่งประดับประดาสร้างสีสันอย่างวิจิตรงดงามไปตามวิถีพื้นถิ่นของแต่ละอำเภอ นอกจากนี้ยังมีเรือเจ็ทสกี เรือรักษาความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล่นขนาบเคียงข้างเลียบลำน้ำไปกับขบวนทั้ง 2 ฝั่งอีกจำนวน 8 ลำ ทำให้ขบวนเรือมีความยิ่งใหญ่เคลื่อนไปจนเต็มลำน้ำ

โดยตลอดรายทางได้มีประชาชนที่มีกิจการและบ้านเรือนพักอาศัยอยู่ตามชายน้ำ ได้จัดเครื่องสักการะเฝ้ารอคอยขบวนเรือองค์หลวงพ่อผ่าน พร้อมมีการจุดพลุและประทัดสอดรับกันไปตลอดเส้นทางของสายน้ำ ซึ่งจุดแรกที่เรือขบวนแห่องค์หลวงพ่อโสธรได้เข้าเทียบท่า คือ ที่ท่าน้ำวัดประศาสน์โสภณ (วัดบางกรูด) ในเวลา 07.35 น. ซึ่งถือเป็นจุดใหญ่ที่มีประชาชนจำนวนนับพันคนมาเฝ้ารอคอยกราบไหว้ปิดทอง สักการะองค์หลวงพ่อโสธรอย่างเนืองแน่น จนต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร อสม. ในพื้นที่มาคอยจัดคิวให้ประชาชนต่อแถวเรียงคิวกันลงไปปิดทององค์พระยังภายในเรือ

ขณะที่ผู้มีฐานนะดีในพื้นที่ และเจ้าของกิจการร้านอาหารหลายแห่ง ได้นำบูธอาหารออกมาตั้งจัดเลี้ยงแจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้มาร่วมงานฟรี ซึ่งมีประชาชนมาต่อแถวเรียงคิวกันเพื่อรอรับอาหารเป็นจำนวนมาก โดยขบวนเรือได้แวะจอดเทียบท่าเป็นเวลาเพียง 50 นาทีจึงเคลื่อนขบวนออกไป จึงทำให้มีประชาชนบางส่วนที่ลงไปปิดทององค์หลวงพ่อไม่ทันภายในเรือ ได้ยกมือนมัสการองค์หลวงพ่อขณะที่ขบวนเรือเคลื่อนตัวออกไปกลางลำน้ำ

โดยบางรายนั้นต้องขับรถติดตามไปรอกราบนมัสการปิดทององค์หลวงพ่อยังที่ท่าน้ำถัดไป ซึ่งประกอบด้วยท่าน้ำตลาดโรงสีล่างในเวลา 08.30 น. ท่าน้ำวัดผาณิตาราม 09.20 น. วัดกระทุ่ม (ประตูน้ำท่าถั่ว) 10.20 น. ที่ว่าการ อ.บ้านโพธิ์ 11.20 น. ท่านำบางปะกงริเวอร์ไซด์คันทรีคลับ 13.10 น. ที่ว่าการ อ.บางปะกง 14.05 น. ท่าน้ำโรงไฟฟ้าบางปะกง 15.25 น. ท่าน้ำวัดบางแสม (วัดทองนพคุณ) 16.35 น. ท่าน้ำวัดคงคาราม (วัดบน) 17.15 น. และท่าน้ำเทศบาลตำบลท่าข้าม 18.25 น.

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.67) จะมีขบวนแห่องค์หลวงพ่อโสธรเป็นวันที่ 2 ขึ้นไปทางด้านทิศเหนือในเวลา 06.00 น. โดยจะแวะเข้าเทียบท่าที่วัดท่าอิฐ ในเวลา 06.20 น. เข้าเทียบท่าน้ำครัวป้าหนูตลาดบ้านใหม่ 100 ปีเวลา 07.15 น. เทียบท่าตลาดบนบ้านใหม่ 07.50 น. เทียบท่าโรงต้มกลั่น 08.10 น. เทียบท่าวัดสายชล ณ รังสี (วัดแหลมบน) 08.40 น. เทียบท่าวัดสัมปทวนนอก 09.25 น. เทียบท่าวัดจุกเฌอ 10.05 น. เทียบท่าวัดสมานรัตนาราม 11.55 น.เทียบท่าวัดสาวชะโงก 12.45 น. เทียบท่าวัดใหม่บางคล้า 13.25 น. เทียบท่าวัดสามร่ม 14.05 น. เทียบท่าวัดคุ้งกร่าง 14.35 น. เทียบท่าวัดปากน้ำโจ้โล้ 15.05 น. เทียบท่าที่ว่าการ อ.บางคล้า 16.05 น.เป็นจุดสุดท้าย และสิ้นสุดขบวนแห่องค์หลวงพ่อโสธรทางน้ำในปีนี้

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ระหว่างพิธีปล่อยขบวนเรือแห่ทางน้ำ ได้มีการจุดประทัดเป็นสัญญาณปฐมฤกษ์ก่อนออกขบวนเรือ ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำมานานหลายปีจำนวนกว่า 1 หมื่นนัด แต่ปรากฏว่าในปีนี้ไม่มีเลขหางประทัดตามที่คอหวยหรือนักแสวงโชคต้องการค้นหา เนื่องจากถูกแรงระเบิดของประทัดระเปิดจนแหลกละเอียด กระจุยกลายไปเป็นเศษกระดาษจนหมดเกลี้ยงเหลือไว้เพียงคำว่า “สำ” เพียงคำเดียวเท่านั้น

โดยที่ชาวบ้านทีมารอคอยดูเลขหางประทัด ของขบวนแห่เรือทางน้ำจากองค์หลวงพ่อ ระบุว่า ในปีนี้หลวงพ่อไม่ให้เลข และถือเป็นเรื่องแปลกที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งปกติก่อนออกขบวนเรือจะมีการจุดประทัดและมีเลขท้ายจำนวน 3 ตัวปรากฏขึ้นมาให้นักแสวงโชคได้นำไปเสี่ยงทาย ลุ้นรางวัลกันเป็นประจำในทุกๆ ปี แต่ปีนี้กลับไม่มีเลขให้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่บริเวณด้านข้างกล่องของประทัด ยังมีเลขล็อตการผลิตที่ปั้มตราเป็นเลข “19” และ “19” เอาไว้ 2 ชุด

สำหรับการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธร และงานประจำปี จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ได้มีการจัดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2433 หลังจากมีโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่จนทำให้มีผู้คนล้มป่วยตายไปเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะมีการบนบานขอพรต่อองค์หลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าโรคภัยร้ายให้หมดสิ้นไปจากพื้นที่  และในเวลาต่อมาโรคระบาดได้หายไปจนหมดสิ้นตามคำกล่าวบนบานไว้

จึงได้มีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธรขึ้นในช่วงกลางเดือน 12 มาอย่างต่อเนื่องยาวนานในทุกๆ ปี ทั้งยังมีขบวนแห่ทางบกและทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายต่อหลวงพ่อด้วยความรำลึกถึงบุญญาภินิหารจนถึงยังหน้าบ้านเรือนชานร้านค้า และเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตกิจการร้านค้าและการประกอบอาชีพได้เจริญรุ่งเรืองเพิ่มพูนทวีผลมากขึ้นไปในทุกๆ ปี