โคราช ผู้ว่า.รฟท.รับพิจารณาปรับแบบตอม่อรถไฟไฮสปีด-ทางคู่ ผ่านเมือง จ่ออนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ 90 ปี
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ทำการกลุ่มบ้านใหม่พัฒนา ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา และกรรมการบริษัท รถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำกัด พร้อมนายชัยวัฒน์ วงษ์เบญจรัตน์ รองประธานหอการค้านครราชสีมา ในฐานะคณะอนุกรรมการการจัดการระบบจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) และแกนนำชาวโคราชเรียกร้องให้ รฟท. ดำเนินการตาม มติ อจร.นม. ซึ่งเป็นฉันทานุมัติของทุกภาคส่วนของชาวโคราช ให้ปรับรูปแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่และความเร็วสูงช่วงเส้นทางผ่านเมือง จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้นำชุมชนและประชาชนในเขต ต.บ้านใหม่ และ ต.โคกกรวด อ.เมือง ส่วนหนึ่งเป็นมวลชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ รฟท.ปรับแบบจากคันดินเป็นตอม่อช่วงทางผ่านพื้นที่และสำแดงพลังยืนขวางทางรถไฟขณะขบวนรถท้องถิ่น 234 สุรินทร์-กรุงเทพ ฯ แล่นผ่านจุดตัดทางข้ามรถไฟบ้านเดื่อ หมู่ 8 ต.โคกกรวด พร้อมเผาโลงศพประท้วง ทำให้ขบวนรถต้องหยุดรอเป็นเวลาหลายนาที บรรยากาศเป็นการชี้แจงความคืบหน้าหลังเข้าพบนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า รฟท. ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามความคืบหน้าประเด็นข้อสั่งการของ รมว.คมนาคม เห็นชอบให้ปรับรูปแบบรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง งานสัญญาที่ 3-5 ช่วงสถานีโคกกรวดถึงสถานีนครราชสีมา ระยะทาง 12.36 กิโลเมตร
นายชัยวัฒน์ รองประธานหอการค้านครราชสีมา กล่าวว่า นายวีริศ ผว.รฟท. ให้ความสำคัญถึงผลกระทบต่อวีถีชีวิตในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยชี้แจงไทม์ไลน์ขณะนี้กำลังปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับกายภาพของจุดตัดทางรถไฟ 9 จุด กรณีจุดตัด ถ.สืบสิริ และทางเข้ากองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ความสูงตอม่อ เกิน 5 เมตร เพื่อยานพาหนะทุกชนิดสามารถแล่นผ่านได้ ตามขั้นตอนเสนอให้ ครม.มีมติเห็นชอบ และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสภาพัฒน์ เพื่อขออนุมัติงบเพิ่ม คาดภายในปีนี้จะแล้วเสร็จและเปิดเผยรูปแบบให้ชาวโคราชรับทราบ เพื่อการมีส่วนร่วมและลดผลกระทบในระหว่างก่อสร้าง นอกจากนี้ อจร.นม.ได้เสนอรูปแบบตอม่อรถไฟทางคู่และความเร็วสูง ควรตั้งอยู่ใกล้กัน จะเหลือพื้นที่ใต้ทางยกระดับเป็นเส้นทางสัญจรในอนาคตและมีพื้นที่ระบายน้ำชุมชน
นายสุรวุฒิ เปิดเผยว่า ขอขอบคุณ ผว.รฟท.ให้โอกาสคณะทำงานจังหวัดนครราชสีมาเข้าพบเพื่อปรึกษาหารือการปรับแบบ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในอนาคต จะส่งผลการพัฒนาร่วมกันระหว่าง รฟท.และท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้แผนรื้อถอนอาคารเก่าสถานีรถไฟนครราชสีมา อายุกว่า 90 ปี เนื่องจากเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย จึงมีความผูกพันในประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ชาวโคราชได้ขออนุรักษ์เพื่อใช้งานร่วมกับสถานีรถไฟแห่งใหม่ เป็นแลนด์มาร์ค พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเมืองเก่าโคราช ผว.รฟท. รับทราบนำไปพิจารณาและได้เน้นย้ำทั้ง 2 โครงการจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการจัดมหกรรมพืชสวนโลก 2572 และต้องมีความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด