วันที่ 14 พ.ย.67 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นงานของประเทศ ซึ่งผ่านมาด้วยดีทุกครั้ง แม้ระหว่างทางจะมีปัญหาทุกครั้ง ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่กำลังจะมาถึงนี้ คิดว่าน่าจะมีปัญหาเช่นกัน แต่ด้วยความร่วมมือขององคาพยพซึ่งทำงานร่วมกันมาก็จะทำให้การเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ. ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบางจังหวัดจะต้องเลือก 2 ครั้งเพราะมีการลาออกของนายก ข้อมูลตอนนี้มี 29 จังหวัด โดยในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.2567 จะมี 3 จังหวัดที่จะต้องจัดการเลือกตั้งประกอบด้วย อุดรธานี เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช และในสัปดาห์ถัดไปเป็นการเลือกนายกอบจ.ของจังหวัดกำแพงเพชร ขณะที่บางจังหวัดก็ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ใจว่านี้ไปจนถึงการครบจะมีการลาออกอีกหรือไม่ ซึ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณ 2 ครั้ง และลงแรงคนเลือก 2 ครั้ง แต่ไม่พ้นวิสัยการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
นายแสวง กล่าวว่า แต่ถ้าจะส่งสัญญาณไปยังนายกอบจ.ที่กำลังคิดจะลา ออกเพื่อเป็นการประหยัดงบฯ การลาออกหลังวันที่ 3 ธ.ค. จะสามารถเลือกพร้อมกันได้ แต่คาดคะเนว่า มีการลาออกเพราะเป็นเหตุผลทางางการเมือง และเหตุผลทางข้อกฎหมาย คือห้ามหาเสียงใน 180 วัน พูดไปก็ไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรหรือไม่ เพราะทางการเมืองเขาคงตัดสินกันไปแล้ว เพียงแต่ส่งสัญญาณไปว่า หากเห็นแก่เรา หรือเห็นแก่ประโยชน์ในการประหยัดงบฯ ก็คิดว่าหากลาออกแบบประหยัดงบฯ คงดีกว่า
จริงๆ กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมจัดการเลือกตั้งโดยยึดหลักการ 4 ข้อ คือ 1.ความเป็นเจ้าของ 2.การมีส่วนร่วม 3.ความโปร่งใสทุกขั้นตอน ซึ่งคิดว่าประเทศไทยมีความโปร่งใสที่สุดแล้ว ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 4. ประสิทธิภาพ ซึ่งมักพบปัญหาหลังปิดลงคะแนนแล้ว มีเรื่องร้องเรียนเกินครึ่งมาจากการทบบัตร หรือบัตรเขย่ง ดังนั้นแต่ถ้าเราละเอียดขึ้นใส่ใจขึ้น ก็จะไม่มีเรื่องที้จะทำให้คนไปมาเสียดสี ซึ่งเราสามารถทนได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ทางกกต.ยังอยู่ระหว่างนำมติศาล หรือกกต.มาจัดทำแนวทางการวินิจฉัยผู้สมัครเพื่อส่งให้กับทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางต่อไป แต่ยังยืนยันว่า สุดท้ายการวินิจฉัยยังเป็นอำนาจของจังหวัดเช่นเดิม
เมื่อถามว่าการใช้เทคนิคในการลาออกก่อน มีความเหมาะสมอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ในฐานะคนที่จัดการเลือกตั้งไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้ ให้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาดูว่ามันควรจะเป็นแบบนี้หรือไม่ เพราะคนที่ออกแบบมาต้องการให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนนำไปใช้กลับนำไปใช้เพื่อประโยชน์อีกเรื่องหนึ่ง พอมันไม่ตรงก็มีช่องว่างถ้าจะมีการแก้กฎหมายทางสำนักงานก็น่าจะมีความเห็นให้ได้ แต่ในชั้นนี้ตนไม่อยากให้ความเห็นอะไรเพราะมันเป็นสิทธิตามกฎหมาย ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมตนมองว่าคนที่ลาออกก็น่าจะมีเหตุผล ไม่ว่าจะเหตุผลทางกฎหมายหรือเหตุผลทางการเมืองในพื้นที่
เมื่อถามถึงการเลือกนายก อบจ.ที่จังหวัดอุดรธานี มีการแข่งขันสูง กกต.จะมีการจับตาจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ถ้าพูดจริงๆ คือกกต.ชอบ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสนใจและตื่นตัวไปออกเสียงลงคะแนน ซึ่งการทยอยเลือกที่ผ่านมาประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อย เพราะอาจจะมีข่าวอื่นมากลบบ้าง เมื่อเกิดกรณีที่จังหวัดอุดรธานี ผู้ช่วยหาเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนลงไปในพื้นที่ทำให้มีความน่าสนใจทั้งในแง่สื่อและประชาชน น่าจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมากขึ้น
เมื่อถามว่าจะเป็นการสุ่มเสี่ยงให้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมากขึ้นด้วยหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เท่าที่ติดตาม พบว่ายังอยู่ในกรอบ การแข่งขันที่สูงหรือเข้มข้นไม่ได้บอกว่าจะผิดกฎหมาย ยอมรับว่ามีโอกาสที่จะผิดกฎหมายอยู่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องบอกว่าไม่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น สู้กันที่วิธีคิดนำเสนอนโยบาย มากกว่าที่จะไปใช้วิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยดูจากการติดตามการเลือกตั้ง อบจ.หลายแห่งพบว่าเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น และประชาชนยังไปใช้สิทธิ์น้อย
เมื่อถามถึงการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกนายกอบจ. นายแสวง กล่าวว่า แต่ละจังหวัดจะเลือกตั้งไม่เท่ากัน โดยในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น 90% ของงบของท้องถิ่น ส่วนอีก 10% เป็นงบกกต. เพื่อใช้สำหรับการควบคุมให้สุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้นขนาดของท้องถิ่น หรือจำนวนเขตจึงมีผลกับการใช้งบฯ ว่าจะมากหรือน้อย อย่างจ.นครราชสี มาจะต้องใช้เยอะ เพราะมีหบายเขต มีจำนวนประชากรเยอะ เราจึงไม่เห็นภาพรวม เพราะเขาไม่ได้รายงานเรา เขาจะทำงานตามระเบียบค่าใช้จ่าย ซึ่งจะกำหนดต่อคนต่อหน่วยอยู่แล้ว และเขาจะคำนวนตามนั้น แต่ในส่วนของกกต.จะตั้งทุกจังหวัดในการสืบสวนสอบสวนให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม
แต่อย่างที่บอกว่า หากเลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็ต้องคูณ 2 เช่น จังหวัดหนึ่งมี 10,000 หน่วย เลือกนายกอบจ.ที่ลาออกไปก่อนแล้ว ก็หมื่นหน่วย ผู้มีสิทธิก็เท่ากัน พอจะเลือกสมาชิก อบจ.ก็ทำเหมือนกันหมด ห่างกันแค่เดือนสองเดือนก็ต้องทำเหมือนเดิมหมด ถึงอย่างไรก็ต้องใช้งบฯ บางคนบอกว่า เป็นผลดี เพราะทำให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น ก็แล้วแต่วิธีคิด แต่ในอีกมุมหนึ่งทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิน้อยลง เพราะเลือกนายกอบจ.ไปแล้ว แต่หากเลือกพร้อมกัน ความชอบธรรมของคนใช้สิทธิก็จะมากขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการร่วมศึกษากฎหมายประชามติ ส่งหนังสือเชิญกกต.ไปร่วมหารือเกี่ยวกับการทำประชามติในการจัดแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ นายแสวง กล่าวว่า ได้มีการเชิญกกต.ไปให้ความเห็นในวันที่ 20 พ.ย. นี้ หากตนไม่ติดภารกิจอะไรก็จะเดินทางไปชี้แจงเอง.