ในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงและเป็นเครื่องมือสำคัญในหลากหลายวงการ หนึ่งในนั้นคือวงการการศึกษา ซึ่งเห็นได้ว่ามีหลายประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยขึ้นทั้งการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือ AI บทบาทของ AI ที่จะมาแทนอาชีพครู นักเรียนนักศึกษายุคใหม่ที่ใช้ AI ในการทำงาน ข้ามไปถึงการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายที่อาจทำลายจริยธรรมทางวิชาการในอนาคต

มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามแล้วว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และทำหน้าที่ในการเรียนการสอนได้จริงหรือไม่?  ผู้รันวงการการศึกษาของไทยอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงอยากพาไปเจาะลึกบทบาท AI ในภาคการศึกษาผ่านมุมมองของ ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ ที่จะมาอินไซต์และบอกเล่าประสบการณ์การใช้ AI ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ไปดูพร้อมกันเลยว่าจะท้าทายแนวคิดการใช้เทคโนโลยีในภาคการศึกษาไทยอย่างไรกันบ้าง…

Generative AI เครื่องมือสุด Mass ที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนของการเรียน “สายวิทย์” อย่างที่เรารู้กันว่างานของครูและอาจารย์ มิได้มีแค่งานสอนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีงานส่วนอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การจัดการเรียนการสอน การดูแลให้คำแนะนำผู้เรียน การพัฒนาตนเอง หรือแม้แต่งานบริการ

ผศ.ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร ได้เล่าถึงประโยชน์ของ AI ในด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า AI ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานของครูและอาจารย์ในหลายด้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้เวลามาก คือ สามารถช่วยออกแบบแผนการสอนได้โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและจัดสรรข้อมูลให้ตรงกับมาตรฐานการเรียนรู้ของนักศึกษา อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบสื่อการสอนที่มีความน่าสนใจ เช่น การสร้างภาพและสื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน เพื่อให้เนื้อหาดูน่าสนใจและเข้าถึงนักศึกษายุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

“AI ไม่ได้เป็นศัตรูหรือภัยคุกคามต่อบทบาทของครูผู้สอน แต่กลับเป็น “ผู้ช่วย” ที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการเรียนรู้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอาจารย์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างของ AI อีกขั้นหนึ่งก่อนที่นำไปสอนนักศึกษา โดยนักศึกษาเองก็สามารถใช้ AI ในการเรียนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยนักศึกษาเข้าใจเนื้อหาเชิงลึกบางอย่างได้รวดเร็ว ใช้ AI ในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร ช่วยแปลและสรุปเนื้อหาจากบทความวิจัยต่างประเทศให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน และในขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลาย โดยจะต้องใช้อย่างชาญฉลาดและรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลเท็จ/จริง มิใช่นำข้อมูลของ AI มาใช้จนหมดและไม่ผ่านการไตร่ตรองเลย บทบาทของอาจารย์ยังคงสำคัญมากในการชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา โดย AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนก็จริง แต่สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามากที่สุดคือการเรียนรู้ที่เกิดจากการสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างบุคคล” ผศ.ดร.กฤติยา  กล่าว

ด้าน ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง โครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปะศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา โดยเฉพาะด้านการแปลภาษาและล่าม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องการความเข้าใจเชิงลึกทั้งในด้านภาษาและบริบทวัฒนธรรมว่า ทุกวันนี้ AI ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนวงการแปลเป็นอย่างมาก นักศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้การแปลและการเข้าใจภาษาที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเป็นเครื่องฝึกฝนตนเองในด้านภาษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ AI ก็ยังมีข้อจำกัดแม้ว่าจะสามารถแปลข้อความได้อย่างรวดเร็ว แต่มักยังขาดความสามารถในการเข้าถึงบทบาทและความหมายเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเข้าใจอารมณ์และบริบทที่อยู่เบื้องหลังคำพูดหรือข้อความนั้น ๆ การแปลความหมายโดย AI ยังไม่สามารถจัดการกับเรื่องที่มีความเซนซิทีฟได้ซึ่งหากใช้โดยไม่มีมนุษย์ช่วยตรวจทานอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น ประโยค “การผ่าตัดของคุณหมอวันนี้คนไข้ตายแน่นอน” อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ฟัง แต่หากแปลโดยมนุษย์จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็น “การผ่าตัดของคุณหมอวันนี้มีโอกาสสำเร็จน้อย” ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของข้อความได้ เป็นต้น ทำให้การแปลของ AI ยังคงมีความแตกต่างจากการแปลที่ทำโดยมนุษย์ที่เข้าใจในแง่มุมละเอียดอ่อนเหล่านี้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ AI ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพและการเรียนการสอนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยเน้นให้นักศึกษารู้จักใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและตระหนักถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยี AI พร้อมกระตุ้นให้นักศึกษาต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เช่น การเข้าใจบริบทและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ ผลในการพึ่งพา AI มากเกินไป อาจทำให้นักศึกษาขาดความเข้าใจเชิงลึกในประเด็นที่ต้องอาศัยการตีความเชิงมนุษย์

“ปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการแปลภาษา โดยช่วยให้กระบวนการทำงานสะดวกขึ้น เช่น การแปลข้อความอัตโนมัติ และการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน แต่ในทางกลับกัน AI ยังเป็นตัวกระตุ้นให้หลักสูตรการเรียนการสอนต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา ซึ่งข้อดีของ AI คือ ช่วยเพิ่มความเร็วและความสะดวกในการแปล แต่ข้อจำกัดของมันคือ AI จะไม่เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมและให้อารมณ์ของงานแปลให้มีความหมายลึกซึ้งได้เลย ซึ่งส่วนนี้ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการตัดสินใจ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องสอนนักศึกษาให้พร้อมรับมือกับข้อจำกัดของ AI แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน แต่ผู้สอนต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และต้องรู้วิธีการผสานเทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการเรียนการสอนให้ได้ โดยการสอนนักศึกษาให้รู้จักใช้ AI อย่างชาญฉลาดจะเป็นการเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และอาจารย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทิศทางการเรียนรู้และสร้างบรรยากาศการศึกษาที่มีความหมาย ส่วน AI ควรเป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เท่านั้น” ดร.สานุช กล่าว