ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
มหาสมุทรอาร์กติก และแผ่นน้ำแข็ง ที่ขั้วโลกเหนือ เป็นพื้นที่สำคัญทั้งด้านสภาพแวดล้อม การไหลเวียนของกระแสน้ำอันก่อให้เกิดการหมุนเวียนของฤดูกาลในพื้นที่ต่างๆของโลก
แต่จากการที่โลกต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งในอาร์กติกละลายจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการรบกวนสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณและชายขอบต้องตกอยู่ในอันตรายแล้ว ปริมาณน้ำแข็งที่ละลายเป็นจำนวนมหาศาล จะเกิดผลกระทบต่อระดับน้ำในมหาสมุทรต่างๆที่จะเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดน้ำท่วมบางส่วนของแผ่นดิน
ทว่าการละลายของน้ำแข็งที่อาร์กติกยังเปิดเผยให้เห็นถึงสินแร่ที่มีค่าอีกจำนวนมาก ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งไปกระตุ้นความสนใจและความโลภของหลายๆประเทศที่หวังจะเข้ามายึดครองพื้นที่และกอบโกยทรัพยากรที่มีค่าไปเป็นของตน
ใช่แต่เท่านั้นอาร์กติก ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านการทหารเพราะตั้งอยู่ระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้ว คือ สหรัฐฯ และรัสเซีย ดังนั้นใครที่สามารถรุกคืบและตั้งฐานทัพในบริเวณนี้ ก็เท่ากับเป็นการข่มขู่หรือเป็นการคุกคามฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย แม้นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มันจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของมหาอำนาจที่จะทำให้เกิดสงครามเย็นขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากจุดวิกฤติ 3 จุด คือ รัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-อิหร่าน และสหรัฐฯ-จีน ซึ่งโดยนัยนี้สหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติทั้ง 3 พื้นที่ก็จะต้องเพิ่มการเผชิญหน้ากับขั้วตรงข้าม เพิ่มขึ้นอีกพื้นที่หนึ่ง นั่นคือ อาร์กติก ซึ่งมันเป็นความท้าทายที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะถูกทดสอบ นโยบาย America First และ Make America Great Again
กว่าศตวรรษที่ผ่านมาในยุคบุกเบิกภายหลังการแผ่วของลัทธิล่าอาณานิคม ภูมิภาคอาร์กติกได้รับความสนใจจากนักวิชาการเรื่องสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ แต่คู่ขนานไปกับความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ พื้นที่อาร์กติกก็ได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงนักวิชาการด้านความมั่นคงอีกด้วย
ทำให้ความเข้มข้นของความขัดแย้งและสงครามเย็น ถูกตอกย้ำด้วยสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตก บวกสหรัฐฯหรือนาโต ซึ่งรัสเซียได้หันไปเพิ่มสาธารณูปโภคทางทหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นประสิทธิภาพของกองเรือทะเลเหนือ และฐานทัพตลอดจนการมีบทบาทมากขึ้นของกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในแถบทะเลอาร์กติก
ในขณะที่สหรัฐฯก็ได้ฟื้นฟูสมรรถนะของฐานทัพเรือ อูลาฟสแวนที่นอร์เวย์ ทั้งๆที่แต่เดิมทั้ง 2 ฝ่ายได้ลดการลงทุนในด้านนี้ลงเพราะสหภาพโซเวียตอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และสหรัฐฯไปให้ความสนใจกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และจีนมากกว่า
ในขณะที่จีนก็ให้ความสนใจในภูมิภาคนี้จนถึงกับยื่นเรื่องขอเป็นผู้สังเกตการณ์ในฐานะอ้างตนอยู่ใกล้อาร์กติก ต่อสภาอาร์กติก ที่ประกอบด้วย 8 ประเทศ ที่มีอาณาเขตติดกับภูมิภาคอาร์กติค นั่นคือสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ค (ผ่านการครอบครองกรีนแลนด์) นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์
นอกจากนี้จีนก็ยังพยายามจะขอเช่าพื้นที่บางส่วนของกรีนแลนด์เพื่อทำเหมืองแร่ โดยยังไม่ตกลงกัน แต่มันตอกย้ำถึงความสนใจของจีนต่อภูมิภาค อาร์คติกที่อุดมด้วยสินแร่ มีค่าและหายาก ซึ่งสำรวจได้เพิ่มขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งที่ทำให้พื้นผิวบางลง
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศ EURO ARCTIC ซึ่งประกอบด้วยฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่สวีเดนและฟินแลนด์ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกนาโต
ในขณะที่อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ก็เข้าขอเป็นผู้สังเกตการณ์ในภูมิภาคด้วย ซึ่งเพิ่มน้ำหนักของความสนใจของหลายประเทศแม้อยู่ห่างไกลอาร์กติก
อนึ่งการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือยังเปิดทางให้กับการเดินเรือใหญ่ๆ เช่น เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลเหนือ อ้อมผ่านไปมาระหว่างยุโรปเอเชียจากช่องแคบแบริงที่เคยมีน้ำแข็งปกคลุมหนาแน่น แต่ก็จะนำมาสู่ข้อพิพาทเหนือดินแดนได้ในหลายพื้นที่
แต่องค์ความรู้และความเข้าใจในภูมิอาร์กติกนั้นมิใช่มีผู้สนใจรายใหญ่ หรือประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาในแง่ภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพราะมันจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต นั่นคือน้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่งทำให้ไทยมีผลที่จะนำมากำหนดนโยบายต่างประเทศของเราด้วย
ทว่าการแข่งขันกันขยายขอบเขตในกิจกรรมทางทหารกลับไปซ้ำเติมภาวะสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงจากการเกิดภาวะโลกร้อน แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือใน 8 ประเทศ เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติก็ตาม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2023 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพื่อขยายเขตไหล่ทวีปเกินเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ทะเล ทำให้สิทธิอธิปไตยเหนือพื้นน้ำขยายตัวออกไปด้วย นับเป็นพื้นที่ 520,400 ตร.กม. กับพื้นที่อื่นทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และอ่าวเม็กซิโก รวมพื้นที่ทั้งหมด 987,700 ตร.กม.
ทั้งนี้พื้นที่อาร์กติกของไหล่ทวีปของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอาร์คติกทางตอนเหนือของอลาสกา ทอดยาวไปทางทิศเหนือเป็นระยะทาง 350 ไมล์ทะเล (ทางทิศตะวันออก) และมากกว่า 680 ไมล์ทะเล (ทางทิศตะวันตก) จากเส้นฐานน่านน้ำอาณาเขตของประเทศ
จากแถลงการณ์สหรัฐฯระบุว่า ส่วนขยายที่จมอยู่ใต้น้ำของแผ่นดินอลาสกา ยังประกอบด้วยที่ราบสูงชุกชี หิ้งโบฟอร์ดและความลาดชัน ซึ่งทอดยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางแคนนาดา และล้อมรอบแอ่งน้ำลึกของแคนนาดาเป็นส่วนใหญ่ โดยสหรัฐฯอ้างการศึกษาทางธรณีแปรสัณฐานเกี่ยวโยงกับหิ้งชุกชีและอลาสกาตอนเหนือ โดยอ้างอนุสัญญา UNCLOS 1982 มาตราที่ 76 แต่ตลกร้ายก็คือสหรัฐฯไม่เคยให้สัตยาบัน ในการรับรองอนุสัญญานี้ และทำโดยประกาศฝ่ายเดียว ซึ่งแน่นอนย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัสเซียกับแคนนาดา ทำให้ในขณะนี้ทางรัสเซียได้ร้องต่อคณะกรรมาธิการว่าด้วยขอบเขตของหิ้งทวีป ของUN และขอแก้ไขการขยายอาณาเขตทางทะเลจากไหล่ทวีป ออกไปอีกเช่นกัน ซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาถึง 10 ครั้ง
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯลงสัตยาบันในอนุสัญญา UNCLOS และยอมรับทั้งหมดของอนุสัญญาไม่ใช่การแสวงประโยชน์จากการอ้างอิงบางส่วน
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าภูมิภาคอาร์กติกจะกลายเป็นจุดร้อนสำหรับสงครามเย็นอีกครั้ง และจะเพิ่มความตึงเครียดและขัดแย้งต่อไปในอนาคตอันใกล้