เภสัชกรขอนแก่นระบุอย่ากังวลโครงการ ร้านยาชุมชนอบอุ่น ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะมีการซักถามประวัติประเมินอาการเบื้องต้น เป็นพื้นฐานที่เภสัชกรทุกคนต้องทำ

จากกรณีที่ แพทยสภา’ฟ้องร้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม ประเด็นการให้เภสัชกร สามารถจ่ายยาได้ตาม 16 กลุ่มอาการที่ร้านขายยา ในโครงการ ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งล่าสุด ‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่งรับฟ้อง เดิมให้เภสัชกรร้านยาสามารถจ่ายยา 16 อาการเล็กน้อย แต่ปัจจุบันขยายเป็น 32 อาการ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป โดยแพทยสภากังวลประเด็นจ่ายยาโดยไม่ตรวจวินิจฉัย ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงในวงการแพทย์และเภสัชอย่างกว้างขวาง โดยด้านหนึ่งมองว่า เภสัชกรไม่สามารถจ่ายยาตามโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากยาบางชนิด จะจ่ายได้ก็ต่อเมื่อมีการวินิจฉัยของหมอแล้วเท่านั้น ส่วนอีกด้านมองว่า ปกติผู้ป่วย 40% ก็เลือกซื้อยาบรรเทาอาการด้วยตัวเองที่ร้านขายยาอยู่แล้ว จึงนำข้อมูลนี้เข้าสู่ระบบบัตรทองมีการติดตามอาการโดยเภสัชกรหลังจ่ายยา 3 วัน และหากอาการรุนแรงขึ้น ก็จะส่งต่อโรงพยาบาล โดยโครงการนี้จะช่วยลดความแออัดและการรอคิวนานในโรงพยาบาลได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 พ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่ ร้านพรชัยเภสัช ตั้งอยู่เลขที่ 182/28 ริมถนนศรีจันทร์ ตรงข้ามโรงพยาบาลขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้พูดคุยกับ ภก.เผ่าพงศ์ เหลืองรัตนา กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)และเป็น เจ้าของร้านฯ กล่าวว่าใครที่เข้ามาซื้อยาที่ร้าน ทางเภสัชกรประจำร้านก็จะมีหน้าที่คอนเฟิร์มก่อนว่า ผู้ป่วยที่มารับยานั้นควรใช้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มีการทำกันมาหลายสิบปีแล้ว  แต่โครงการนี้คือคนไข้มาด้วยอาการที่เจ็บป่วย เราก็เอายาให้คนไข้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีการสกรีนดูว่าคนไข้มีอาการเจ็บป่วยแบบไหนยังไง มากน้อยแค่ไหนมีความเหมาะสมในการจ่ายยาให้หรือไม่ และโครงการนี้เป็นโครงการสนับสนุนโดยสปสช.ที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย และเภสัชกรจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่ายาเหล่านี้จะเข้ากับกลุ่มอาการเหล่านี้หรือไม่ และก่อนจะจ่ายยาทุกครั้งต้องมีการพูดคุยซักประวัติก่อนจะจ่ายยาให้อยู่แล้ว

" โครงการนี้มีการดำเนินการมาถึง 2 ปีแล้ว และผลตอบรับสามารถช่วยประชาชนที่มีอาการเล็กๆน้อยๆ ไม่สะดวกเข้าไปโรงพยาบาล หรือเข้าไปที่โรงพยาบาลพบว่ามีคนไข้อยู่แออัดเต็มไปหมด และเราก็มีการช่วยดูแลภาวะอาการตามที่มีเงื่อนไขกำหนดทั้ง 32 อาการด้วย และสิ่งสำคัญคือคนไข้ที่มีบัตรทองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายๆใดๆเลยตามสิทธิ ทั้งนี้โดยส่วนตัวโครงการนี้ว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ โดยคนไข้ที่เข้ามาต้องมองแล้วว่าประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้และเรายังสามารถให้บริการด้านยาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีความอึดอัดเรื่องค่าใช้จ่ายของคนไข้แต่ละเคส และยังเป็นการให้บริการเต็มระบบแก่คนไข้เหล่านี้ได้อีกด้วย"

ภก.เผ่าพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าคุณหมอมองมุมการทำงานของร้านยาแบบไหน แต่โดยปกติแล้วก่อนที่เภสัชกรจะหยิบยาให้คนไข้นั้น เราต้องมีการพูดคุยซักประวัติเบื้องต้นมองถึงความเสี่ยงด้านต่างๆว่าจะเกิดขึ้นได้มากน้อยขนาดไหนหรือไม่มีความเสี่ยง รวมทั้งปัญหาหรือความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลจ่ายยาเบื้องต้น แต่ในมุมมองของคุณหมอส่วนใหญ่ที่ตนเองทราบคือ จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรค ต้องเจาะเลือดเพื่อให้ได้คำตอบก่อนว่าจะเป็นอะไรขนาดไหน ซึ่งเราก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าถ้าอาการเล็กๆน้อยๆ เมื่อได้พูดคุยสอบถามกันเบื้องต้นก็จะพอรู้ว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่ซับซ้อน

"หากการพูดคุยซักถามพบว่าอาการที่คนไข้มาร้านขายยานั้นไม่ช่อาการเจ็บป่วยปกติ หรือเจ็บป่วยเล็กน้อย น่าจะต้องรีบไปพบแพทย์ เราก็จะมีระบบส่งต่อคนไข้และเขียนกำกับเอกสารให้คนไข้เข้าไปตรวจที่ รพ.เพิ่มเติม ผลดีที่คนไข้ได้รับโดยตรงนั้น คนไข้เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเดินเข้ามาซื้อยาได้ในร้านขายยาใกล้บ้าน และเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะเข้ามาซื้อยา แต่สมัยก่อนจะคิดแล้วว่าตัวเองมีเงินอยู่จำกัด จะได้ยาสักเท่าไหร่และบางคนก็ไม่กล้าบอก แต่ตอนนี้คนไข้สามารถเดินมาบอกข้อมูลได้ครบถ้วนทุกอย่างตามสิทธิ์ของโครงการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เราจึงสามารถให้ยาคนไข้ได้เต็มที่และตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นในการรักษา"

ภก.เผ่าพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คุณหมออาจจะมองเยอะว่าต้องตรวจก่อนหรือไม่ ต้องทำให้ชัดเจนมากกว่านี้หรือไม่ แต่เราก็จะมีการซักถามสอบถามประวัติเบื้องต้นอยู่แล้วว่าจะเป็นอาการที่รุนแรงมากกว่านี้หรือไม่ ซึง่งที่คุณหมอกังวลใจนั้น เภสัชกรก็กังวลใจในการให้บริการของเราด้วยเช่นกัน แต่เราก็ยืนยันว่าเราทำทุกอย่างให้คนไข้ปลอดภัย และก่อนที่ร้านจะเข้าโครงการนี้ไม่ใช่ว่าร้านไหนก็สามารถเข้าได้ ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นร้านยาคุณภาพที่จะมีการตรวจประเมินจากสภาเภสัชกร ซึ่งมีการดูทั้งระบบทั้งเงื่อนไขการจัดร้าน การแต่งตัว การอยู่ให้บริการ หรือที่สำคัญคือมีแนวคิดที่จะพัฒนาร้านให้มีคุณภาพที่ดีได้อย่างไรนอกเนหือจากอยู่กับร้านเพียงอย่างเดียว และสภายังมีการอบรมความรู้ความเข้าใจ และทัศนคติ ซึ่งมีการเตรียมเภสัชกรไว้ทั้งหมอก่อนให้เข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว ในมุมของร้านยาเรารู้สึกว่าเรามีประโชน์มากขึ้น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้นอย่างเหมาะสม อะไรจำเป็นไม่จำเป็นเราก็มีการแนะนำไม่ได้จ่ายยาให้มั่วๆ และเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านการแพทย์ และยังมีการติดตามอาการรักษาของคนไข้ด้วย ทั้งการโทร การแชทผ่านแอบพลิเคชั่นไลน์ ถือเป็นการแบ่งเบาภาระความแออัดของโรงพยาบาลได้อย่างมาก