วันที่ 13 พ.ย.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กล่าวความคืบหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบังและพื้นที่ต่อเนื่องว่า พื้นที่ลาดกระบังได้รับการกำหนดบทบาทให้เป็นศูนย์ชุมชนชานเมือง ตามแผนระยะ 20-30 ปี คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มประมาณ 700,000 คน โดยแผนดังกล่าวมุ่งส่งเสริมการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า และบริการ พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของชุมชน ซึ่งลาดกระบังเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว แต่สภาพปัจจุบันของพื้นที่ยังพบปัญหา เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เต็มศักยภาพ โครงข่ายการขนส่งสาธารณะขาดการเชื่อมต่อ การจราจรติดขัด ปัญหาน้ำท่วมขัง สถานที่ท่องเที่ยวมีความเสื่อมโทรมและขาดการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

 

นายไทวุฒิ กล่าวว่า โครงการนี้มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน แต่ในส่วนของ กทม.รับหน้าที่กำหนดแผนผังทั้งในภาพรวมและพื้นที่เฉพาะ รวมถึงข้อกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในย่านต่าง ๆ ปัจจุบันตัวแผนได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันการศึกษา สมาคม องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องแล้ว และมีการประชุมรับทราบผลการศึกษาครั้งสุดท้ายไปแล้ว มีความคืบหน้ามากกว่า 90% ซึ่งในภาพรวมหลายภาคส่วนเห็นด้วยกับแผนที่ สวพ.นำเสนอ จากนี้จะผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนการของบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อดำเนินการสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน เช่น สะพานข้าม สถานที่สำคัญ สวนสาธารณะ เป็นต้น

 

โดยสาระสำคัญจากผลการศึกษาโครงการและจากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนล่าสุด สรุปว่า ควรมีแผนหลักซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้แก่ เขตลาดกระบัง เขตประเวศ และเขตสะพานสูง และเจาะจงแผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะร่วมด้วย เช่น ย่านชุมชนหัวตะเข้ ซึ่งใกล้พื้นที่สวนพระนคร (สวนสาธารณะ) แนวคลองลำแขก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โรงพยาบาลลาดกระบัง และพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ

 

อีกพื้นที่สำคัญที่ควรเจาะแผนพัฒนาจากเสียงสะท้อนของประชาชนคือ พื้นที่ Airport Rail Link (ARL) สถานีลาดกระบัง ใกล้ถนนร่มเกล้า ก่อนเข้าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นจุดที่มีประชาชนจำนวนมาก ชาวบ้านแจ้งว่าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจอดรถไม่เป็นระเบียบ จึงอยากให้มีการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ เช่น มีที่จอดรถ มีศูนย์การค้าต่าง ๆ มีรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น ให้บริการเส้นทางต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่นอกเหนือจากเส้นทางการเคหะร่มเกล้าถึงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก และจะมีการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามแผนต่อไป ซึ่งในอนาคตจะเป็นที่จอดรถไฟความเร็วสูงด้วย

 

สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบังและพื้นที่ต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อวางผังแม่บท กำหนดบทบาทพื้นที่ลาดกระบัง มุ่งส่งเสริมการพัฒนาด้วยมาตรการทางกฎหมายและผังเมือง พร้อมประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบัง ให้สามารถดำเนินการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเป็นระบบ แก้ไขปัญหาจราจร สร้างสภาพแวดล้อมดี ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนสร้างสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย ลดการเดินทางเข้าสู่พื้นที่