ก.ล.ต.เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้น IVF สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในจำนวนไม่เกิน 130,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.55 ของจำนวนที่ออกและเรียกชำระทั้งหมด เพื่อระดมทุนตามแผนการมุ่งสู่ตำแหน่ง “ผู้นำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากของเอเชียด้วยมาตรฐานสากล” ด้วยนโยบายการขยายจำนวนสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มบริการเวชศาสตร์ป้องกันและฟื้นฟู สอดรับกับโอกาสเติบโตทางธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility) ในระดับโลกที่มีแนวโน้มสดใส ภายใต้มาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล
 
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.67 น.ส.เกศิณี กุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) หรือ “IVF” เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากแบบครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละบุคคล และการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ภายใต้ประสบการณ์กว่า 6 ปีโดยแผนการเข้าตลาด IPO ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ โดยอาศัยจุดเด่นในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม ดังนี้ ประสบการณ์การให้บริการภายใต้มาตรฐานสากล บริษัทฯ มีโมเดลธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในฐานะ “ศูนย์รวมความเชี่ยวชาญด้าน Fertility” ที่ครอบคลุม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เทคโนโลยีการดูแลที่ทันสมัย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของคู่สมรส และมาตรฐานการให้บริการระดับสากล รวมถึงมาตรฐานด้านการบริหารจัดการ ทั้งด้านการแพทย์และการให้บริการ

ขณะเดียวกันได้รับการรับรองในมาตรฐานสากล บริษัทฯ มุ่งมั่นสู่มาตรฐานคุณภาพระดับสากลอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นธุรกิจศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการรับรอง AACI และ ISO9001 นอกจากนั้น เรายังเป็นแห่งที่สองของโลกที่ได้รับ Global Healthcare Accreditation (โปรแกรมเฉพาะ COVID-19 สำหรับ Medical Travel) และได้รับการรับรองจาก TEMOS International Healthcare Accreditation (Excellent in International Reproductive Care) จากประเทศเยอรมนี และล่าสุด บริษัทฯ ได้รับรางวัล Excellence Awards เป็นรายแรกและรายเดียวในปัจจุบันสำหรับกลุ่มธุรกิจ IVF ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อการรักษา บริษัทฯ มีการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ลดระยะเวลาในการรักษาและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย อาทิ EmbryoScope plusตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่สามารถติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้แบบเรียลไทม์ พร้อมประเมินคุณภาพตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีเอไอ (AI), LensHooke® เครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ ที่ครอบคลุมความเข้มข้น การเคลื่อนไหว รูปร่าง รวมถึงโอกาสการติดเชื้อ, เทคนิค PGT-A/-SR SNP Array ของ illumina การตรวจวินิจฉัยโครโมโซมของตัวอ่อน เพื่อทำหน้าที่คัดกรองโรคทางพันธุกรรมได้อย่างแม่นยำ ฯลฯ

นอกจากนี้พร้อมให้บริการลูกค้าด้วยบริการระดับสากล นอกจากการอบรมผู้ให้บริการให้มี Service Mind ในระดับสูง บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการคัดเลือกทีมงานมืออาชีพ เข้าใจลูกค้า สามารถให้บริการหลายภาษา ครอบคลุมภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามลายู โดยในปี 2565-2566 มีสัดส่วนลูกค้าที่ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติกว่าร้อยละ 80 โดยกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ อินเดีย และจีน

สำหรับโครงสร้างรายได้ที่แข็งแกร่ง บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้กลยุทธ์ Asset-light เช่น การร่วม Joint Venture กับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและภายนอก จนสามารถสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการให้บริการในปี 2564-2566 เท่ากับ 11.24 ล้านบาท 63.31 ล้านบาท และ 121.55 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจ IVF และในงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 มีรายได้จากการให้บริการ 83.28 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก 76.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92 และรายได้จากธุรกิจเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ 6.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8
 
นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 130,000,000 หุ้น ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว จะส่งผลให้บริษัทฯ มีทุนชำระแล้ว 220,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน440,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท จากทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 155,000,000 บาท โดยมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องและใช้ในการขยายสาขาให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายการเติบโตของอินสไปร์ ไอวีเอฟ ไปในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลโดยจะพิจารณาตามความสามารถในการทำไรแต่ละปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นๆ