อ่างทองหลายหน่วยงานผนึกกำลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดอ่างทอง

 

   วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (กลุ่มภารกิจด้านความมั่นคงและบริหารทรัพยากรธรรมชาติ) และนายทัศนัย สุธาพจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (กลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจและสังคม) ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในอำเภอแสวงหา และอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยนายนรินทร์ อร่ามโชติ นายอำเภอแสวงหา นายอภิชาติ ศรีเหรา นายอำเภอวิเศษชัยชาญ นางวินดา เหลี่ยมสมบัติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง นายวีร์ กี่จนา ประมงจังหวัดอ่างทอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 

   

 จุดที่ 1 กลุ่มผู้เลี้ยงจระเข้วังน้ำเย็น ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 (24 ปีที่ผ่านมา) โดยมีนายพิเชษฐ์ มีศรี เป็นเจ้าของฟาร์มและประธานกลุ่ม มีจำนวนสมาชิกจากทะเบียนเกษตรกร 9 ราย พื้นที่เลี้ยง 2,352 ตารางเมตร จำนวนจระเข้ 9,966 ตัว จำหน่ายผลผลิตในรูปแบบเนื้อสดแช่เย็น เนื้อจระเข้และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น เนื้อจระเข้บาบิคิว เนื้อจระเข้แดดเดียว ผลิตภัณฑ์น้ำมันจระเข้ โลชั่นถนอมผิว และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจระเข้ ฯลฯ โดยมีช่องทางการจำหน่ายทั้งรูปแบบขายปลีกและขายส่ง ทั้งในประเทศ และส่งออกเนื้อจระเข้แปรรูปไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ปัจจุบันประสบปัญหาการขอใบอนุญาต CITES ทำให้ไม่สามารถส่งออกเนื้อจระเข้สดไปยังต่างประเทศได้ และยังขาดแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาด้านการแปรรูป (เนื้อจระเข้อบแห้ง) ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดอ่างทอง ประสานจัดหาลูกพันธุ์จากฟาร์มที่มีใบอนุญาต CITES และพัฒนาฟาร์มเลี้ยงให้สามารถเป็นฟาร์มเพาะลูกพันธุ์จระเข้ เพื่อการขอใบอนุญาต CITES หาแนวทางในการเพาะพันธุ์ลูกพันธุ์ที่มีใบอนุญาต CITES นอกจากนี้ ยังได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน ผ่านหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น 

 

   จุดที่ 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และแปรรูปบ้านอบทม โดยกลุ่มได้เริ่มเลี้ยงปลาช่อน ปลาดุก และปลาเบญจพรรณ มาประมาณ 20 ปีแล้ว มีนายวิศรุต อ่วมกลัด เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิก 50 ราย พื้นที่เลี้ยงประมาณ 500 ไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 5 ตัน/วัน โดยจำหน่ายในรูปแบบปลาสดเพื่อส่งจำหน่ายในตลาดจังหวัดอ่างทอง และตลาดต่างจังหวัดใกล้เคียง และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และตามงานต่าง ๆ ภายในจังหวัด ปัจจุบันเกษตรกร ประสบปัญหาด้านต้นทุนอาหารสัตว์สูง ลูกพันธุ์ไม่แข็งแรงและไม่ต้านโรค และขาดโรงเรือนสำหรับการแปรรูปที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้ให้คำแนะนำในการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างคอนเทนต์ สร้างเรื่องราว (Story) สร้างแบรนด์ และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มมูลค่า โดยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งในเรื่องคุณภาพน้ำ การผลิตสัตว์น้ำลดระยะเวลาการเลี้ยงซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร การแปรรูปให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค การพัฒนาฉลาก โลโก้ และบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ

สำหรับด้านการตลาด ควรส่งเสริมให้มีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น ผ่านทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ควรหาจุดเด่นและอัตลักษณ์ของสัตว์น้ำจากแหล่งผลิตในอำเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าและผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดอ่างทอง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง และนายอำเภอวิเศษชัยชาญ หารือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสัตว์น้ำของอำเภอวิเศษชัยชาญ ตลอดห่วงโซ่อาหาร (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ปลาช่อนที่โตเร็ว แข็งแรง และต้านทานโรค