อบจ.ระยอง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แกลง และ อ.เมืองระยอง เพื่อแก้ไขน้ำท่วม หลังมีบทเรียนน้ำท่วมหนักเมื่อปี 65 ก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ตั้งเป้า 10 เดือน ศึกษาแล้วเสร็จ 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 พ.ย.ที่หอประชุมโรงเรียนนานาชาติตากสินแกลง อ.แกลง จ.ระยอง นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายก อบจ.ระยอง เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น(การประชุมปฐมนิเทศ)โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แกลง และ อ.เมืองระยอง  ครั้งที่ 1 มีผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.แกลง และ อ.เมืองระยอง เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นฯ

นายประสานต์ เปิดเผยว่า พื้นที่ อ.แกลง ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำย่อยประแสร์ ในพื้นที่มักประสบมีปัญหาน้ำท่วมชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะในปี 2565 เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ อ.แกลง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านทรัพย์สินและทางด้านเศรษฐกิจจำนวนมาก โดยน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ยิ่งทำให้ประชาชนในพื้นเดือดร้อนหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.กระแสบน ต.ทางเกวียน ต.วังหว้า ต.บ้านนา ต.ทุ่งควายกิน เทศบาลตำบลเมืองแกลง และเทศบาลตำบลท่งควายกิน เป็นต้น อีกทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ส่งผลเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่อย่างมากด้วย 

สำหรับในพื้นที่ อ.เมืองระยอง ประกอบด้วย ต.สำนักทอง ต.แกลง ต.กะเฉด และ ต.สำนักทอง อยู่ในลุ่มน้ำย่อยคลองแกลง ซึ่งพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินเขาขนาบ ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันระยะเวลานาน ก็มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อบจ.ระยอง ได้เล็งเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนดัง จึงได้มีการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ อ.แกลงและอ.เมืองระยอง จ.ระยอง ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ อ.แกลงทั้งหมด 15 ตำบล 147 หมู่บ้าน และพื้นที่ของ อ.เมืองระยอง รวม 22 หม่บ้าน โดยแบ่งกลุ่มตามลุ่มน้ำย่อย เป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแม่น้ำประแสร์ และคลองโพล้, กลุ่มคลองพังราด, กลุ่มคลองทาสีแก้ว, กลุ่มคลองสองสลึง, และกลุ่มคลองแกลง ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาโครงการฯ ประมาณ 10 เดือน หรือ 300 วัน ก่อนจะส่งมอบผลการศึกษาของโครงการให้กับโครงการชลประทานระยอง เพื่อนำงบประมาณมาแก้ไขปัญหาต่อไป