“เชาว์” ฟันธง “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แนะฟ้องศาลฯเอาผิด คกก.คัดเลือก จงใจเลือกคนมีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้นตำแหน่งทางการเมืองไม่ถึงหนึ่งปี เชื่อมีคนติดคุก
วันที่ 12 พ.ย.67 นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์ Facebook Chao MeeKhuad เรื่อง "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีเนื้อหาระบุว่า ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน จึงมีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และเตือนไว้เลยว่า ใครก็ตามที่ลงคะแนนให้นายกิตติรัตน์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ท่านเตรียมสู้คดีในชั้นศาล ที่อาจต้องจบที่เรือนจำได้เลย ที่พูดแบบนี้ก็เพราะ ระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดไว้ชัดเจนในหมวดที่ 2 การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้ในข้อ 16 (4) ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม "เป็นหรือเคยเป็นผู้ดดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯที่กำหนดไว้เช่นนี้ ต้องการให้ บุคคลที่จะได้รับคัดเลือกเป็น ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่นายกิตติรัตน์ เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214/2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2535 มีทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกดนตรีอำนวยความสะดวกในการปฎิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี
นายเชาว์ กล่าวต่อว่า เห็นได้ชัดว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของนายกิตติรัตน์ แม้โดยนิตินัยจะไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง โดยเลี่ยงใช้คำว่าที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่โดยพฤตินัย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214/2566 ระบุให้นายกิตติรัตน์ ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกฯ อำนวยความสะดวกในการปฎิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ของนายกิตติรัตน์ จึงอยู่ในความหมายของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความในข้อ 16 (4) ของระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพราะนายกิตติรัตน์ ยังพ้นตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ถึงหนึ่งปี โดยพ้นตำแหน่งไปในวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน หลุดตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 เท่ากับเพิ่งพ้นหน้าที่มาเพียงแค่ไม่ถึงสามเดือน
“ถ้าเราปล่อยให้นายกิตติรัตน์ ได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ด้วยข้ออ้างว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ต่อไประเบียบฯ เรื่องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาเป็นประธานหรือกรรมการแบงก์ชาติ เว้นพ้นตำแหน่งแล้ว 1 ปี จะกลายเป็นหมันใช้บังคับในทางปฏิบัติไม่ได้ เพราะการเมืองใช้วิธีศรีธนญชัย เล่นแร่แปรธาตุทางกฎหมาย
ผมยืนยันว่าในทางกฎหมายแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ จะไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่หน้าที่ที่ทำตามคำสั่งนายกฯ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแน่นอน กรณีนี้ผมเสนอให้มีการฟ้องศาลฯ เอาผิดคณะกรรมการคัดเลือก จงใจเลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไปให้สุดจะได้รู้ว่าต้องไปหยุดที่คุกหรือไม่” นายเชาว์กล่าว