รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน และแนวทางดูแลสุขภาพคนกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบัน กทม.ตรวจสุขภาพคนกรุงเทพฯ ไปแล้วประมาณ 500,000 คน พบโรคความดันเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือโรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน กำลังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากพบผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 5.14 และผู้มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 10.45 รวมถึงจากการตรวจสุขภาพนักเรียนทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. พบเด็กนักเรียนเสี่ยงโรคเบาหวาน หรือใช้คำว่า อวบระยะสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมา กทม.มีแนวทางป้องกันโดยใช้นโยบาย Thai School Lunch หรือการใช้เทคโนโลยีกำหนดรายการอาหารเช้าและกลางวันสำหรับนักเรียนตามโภชนาการ แต่ปัญหาที่พบคือ บางครั้งรสชาติไม่ถูกใจนักเรียน รวมถึงเด็กหลายคนยังไม่ชอบกินผักสลัดที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งนักโภชนาการในโรงเรียนมีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมด้านอาหารในโรงเรียนแล้ว สังคมภายนอกโรงเรียนมีส่วนสำคัญ เช่น ร้านค้าโดยรอบ การนำเสนออาหารอร่อยจากสื่อต่าง ๆ จูงใจเด็กนักเรียน หรือระหว่างที่นักเรียนรอผู้ปกครองมารับ ก็อาจซื้ออาหารรอบ ๆ โรงเรียนมารับประทาน เป็นต้น ผู้ปกครองจึงควรแนะนำเรื่องอาหารที่ควรซื้อรอบโรงเรียนแก่นักเรียน เพื่อร่วมกันป้องกันโรคเบาหวานร่วมด้วย
นอกจากนี้ ข้อมูลพบว่า กลุ่มแรงงานในสถานที่ก่อสร้างมีสัญญาณการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่ากลุ่มอื่น คาดว่าน่าจะมาจากการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง แต่ยังไม่ยืนยันแน่ชัด อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากบริบทอื่น ๆ มาวิเคราะห์เรื่องสุขภาพ เช่น อาหาร ทั้งมิติเรื่องราคา ความสะดวก รสชาติ พฤติกรรม ซึ่งมีผลต่อการบริโภคและสุขภาพ โดยเฉพาะผู้เป็นโรคเบาหวาน พบมีความเครียดสูง ส่งผลต่อสภาพจิตใจร่วมด้วย โดยข้อมูลทั้งหมด กทม.จะนำไปปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ ต่อไป
ที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกับหลายสำนัก หลายนโยบาย เช่น การสร้างทางเท้า ทางจักรยาน การสร้างสวนสาธารณะ จัดระเบียบผู้ขายอาหารหาบเร่แผงลอย การปลูกต้นไม้ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนประชาชนในมิติด้านสุขภาพ ห่างไกลจากโรค แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าไม่ง่ายที่คนกรุงเทพฯ จะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะด้านอาหาร เนื่องจากปัจจัยด้านราคา รสชาติ อาหารที่ดีถูกมองว่ามีราคาสูง ส่วนอาหารที่อร่อยมักไม่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่ประชาชนมีทางเลือกไม่มาก เช่น การทำอาหารเองอาจมีราคาสูงกว่าซื้อสำเร็จรูป เป็นต้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพจำเป็นต้องพัฒนาเมืองให้สอดรับควบคู่ไปด้วย
ส่วนแนวทางในการส่งต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอื่น ๆ ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างพัฒนามาตรฐานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทุกสถานพยาบาลในสังกัด กทม. โดยมีแผนเน้นให้โรงพยาบาลแม่ข่ายแต่ละโซนเป็นศูนย์กลางรับและส่งต่อผู้ป่วย จากหน่วยต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขต สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 13 กรุงเทพมหานคร สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นต้น ซึ่งโรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นผู้ส่งต่อหรือรับกลับจากหน่วยอื่น ๆ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีลูกข่ายแยกย่อยในการดูแลผู้ป่วย เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดแผนเข้าไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังต้องประสานกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก
จากการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในปี 2567 จำนวน 75,520 คน สามารถลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 39.87 ชะลอไตเสื่อมได้ร้อยละ 32.56 และสามารถควบคุมเบาหวานได้ร้อยละ 58.89