รามาฯ จัดสัปดาห์สุขภาพจิต ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรในองค์กร บาดแผลทางจิตใจในการทำงาน เป็นเพชรฆาตเงียบที่องค์กรจำเป็นต้องยกระดับการป้องกัน ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจของบุคลากร และสร้างระบบขององค์กรที่บุคลากรรับรู้ได้ถึงความปลอดภัยทางจิตใจในการทำงาน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดสัปดาห์สุขภาพจิต 2567 ภายใต้แนวคิด “สุขภาพจิตในการทำงาน” ในหัวข้อเสวนาเรื่อง “การป้องกันบาดแผลทางจิตใจในสังคมการทำงาน” พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีไม่สนับสนุนสังคมการทำงานที่มุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์ แต่คนทำงานบาดเจ็บทางจิตใจ ย้ำการป้องกันบาดแผลทางจิตใจจำเป็นต้องยกระดับเชิงรุกและร่วมมือกันในทุกระดับ

รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงานเป็นปัญหาที่มีมาอย่างเรื้อรัง นอกเหนือจากการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับบุคลากรแล้ว องค์กรควรจะต้องมีระบบการป้องกันบาดแผลทางจิตใจ เพื่อให้บุคลากรเกิดความมั่นคงทางจิตใจและรู้สึกปลอดภัยในการทำงาน เปรียบเสมือนการขับรถที่มีถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัยเวลาเราขับรถ ที่ทำให้คนขับสบายใจและปลอดภัยในการขับรถ วัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันที่ควรเกิดขึ้นในองค์กร คือ “การยอมรับว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครที่มีเจตนาอยากให้ผิดพลาด” เมื่อผิดพลาดแล้วให้มองที่กระบวนการหรือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความผิดพลาด ไม่มุ่งกล่าวโทษว่าคนหรือใครเป็นคนทำให้ผิดพลาด เพราะการมุ่งกล่าวโทษที่คนจะทำให้คนทำงานรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจในการทำงาน สำหรับตัวบุคลากรเอง การมีสติรู้ตัวและให้อภัยในความผิดพลาด จะช่วยจัดการของที่เราถืออยู่ในมือไม่ให้เผลอไปเขวี้ยงโดนใคร หรือหากทำของหลุดมือไปแล้ว ยังเท่าทันที่จะเก็บของกลับมาได้โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเดินสะดุดของที่เราเขวี้ยงออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาทักษะการล้มเป็นลุกไวและเติบโตทางจิตใจให้มีอยู่ในตัวบุคลากร (Resilience skill) ที่ต้องอาศัยการยอมรับความจริง การทบทวนตัวเอง และเรียนรู้พัฒนาก้าวต่อไป

ด้าน พว.พรทิพย์ ไขสะอาด หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวช ต้นแบบหัวหน้างานที่มาแลกเปลี่ยนการสื่อสารกับทีมเมื่อเกิดความผิดพลาดในการทำงาน กล่าวว่า การสื่อสารแบบสันติเมื่อเกิดความผิดพลาดในการทำงาน จะสันติได้ต้องเริ่มที่ทัศนคติของหัวหน้างานที่ต้องมีก่อนที่จะสื่อสาร คือ 1. ทุกคนไม่มีเจตนาให้เกิดความผิดพลาด และ 2.เห็นข้อดีของคนที่อยู่ตรงหน้า หากเรามีทัศนคติเช่นนี้และเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ท่าทีและวิธีการสื่อสารก็จะเป็นไปอย่างสันติ ไม่เกิดบาดแผลทางจิตใจในการทำงาน

ขณะที่ นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ รองคณบดีฝ่ายคุณภาพและศูนย์ความเป็นเลิศ กล่าวว่า นอกเหนือจากการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ตัวบุคลากรแล้ว ระบบที่คณะฯ ออกแบบเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานที่ปลอดภัยทางจิตใจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (Personnel Safety Goals 2018) โดยมีโครงการช่วยเหลือด้านจิตสังคมสำหรับบุคลากร (Support System for Our Staff; หรือโครงการ SSOS) ซึ่งเป็นระบบการดูแลและช่วยเหลือบุคลากรของคณะฯ ที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์ ให้สามารถสนับสนุน เยียวยา และฟื้นฟูสภาพจิตใจ ไม่ให้เกิดแผลในใจ สามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังส่งเสริมนโยบายไม่สนับสนุนความรุนแรงในสถานที่ทำงาน (workplace violence) ทั้งทางด้านการกระทำและคำพูด และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของบุคลากร โดยเฉพาะการพัฒนาจากด้านใน (inner life) ให้ความเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และตระหนักในคุณค่าและความหมายของงาน (meaningful work)

น.ส.ชมพูนุท จิวะธานนท์ รองคณบดีฝ่ายบริหารทุนมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผลกระทบสภาวะทางจิตใจของบุคลากร มีเหตุปัจจัยที่เกิดจาก 2 มิติสำคัญ มิติแรกคือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ปริมาณงาน ผู้รับบริการ ตลอดจน ผู้บังคับบัญชา มิติที่สองคือความรู้สึกตนเองที่ได้รับผลกระทบ การจัดการกับสภาวะความกดดันและความเครียดได้เร็วและไวที่สุด ควรเริ่มต้นจากการจัดการกับปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น การให้ความสำคัญกับการสำรวจและตระหนักรู้ด้วยตนเอง (Self-awareness) เริ่มจากการสำรวจตนเอง การรู้และยอมรับสัญญาณปัญหาสุขภาพใจด้วยตัวของบุคลากรเอง เป็นจุดเริ่มต้นของรู้เท่าทัน และป้องกันบาดแผลทางจิตใจไม่ให้ลุกลามได้ เพราะการเข้าใจ รู้สถานะ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จะนำไปสู่การมองหาทางเลือกในแนวทางและกลไกที่จะจัดการจิตใจของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งฝ่ายบริหารทุนมนุษย์ได้เล็งเห็นความสำคัญและมองเป็นทิศทางในการวางแนวทางการพัฒนาและสร้างเสริมเชิงป้องกัน ให้กับบุคลากร นอกจากนั้น ได้วางแผนจัดการพัฒนาเสริมสร้างเทคนิคการสื่อสารให้กับระดับบังคับบัญชา เพื่อส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่สำคัญ ให้บุคลากรเกิดการทำงาน ที่มีความสุขเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กันไป