อนุทิน ยอมรับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า คุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ได้กินมาม่า อ้างมีนัดเลยขอตัวออกมาก่อน ติดตลกชอบกินไวไวรสหมูมะนาวมากกว่า ด้านสนธิญาระบุทักษิณรับเองแกนนำพรรคร่วมหม่ำมาม่ามัดตัว เข้าข่ายครอบงำ-ชี้นำ เข้าทางคนร้องเรียนยุบพรรคเพื่อไทย ลอกเห็นใจนายกฯ อิ๊งค์เจอปัญหารุมเร้า ขณะที่สมคิด แนะรัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะดึงประชาชนมีส่วนร่วมแก้รัฐธรรมนูญ
ที่ศาลาประชาคมเกาะกูด จ.ตราด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 ส.ค.67 ภายหลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำขณะที่นายทักษิณปฏิเสธไม่ได้ครอบงำ แต่เพียงไปกินมาม่ากัน ว่า วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนกินไวไวทุกวัน ชอบรสหมูมะนาว
เวลาไปเยี่ยม นายกฯทักษิณ บางทีท่านก็เอามาม่ามาเลี้ยง เพราะบางทีไปตอนบ่ายๆ พอหิวก็เอามาม่ามาเลี้ยง แต่วันที่ 14 ส.ค.ผ่านมา ผมไม่ได้กิน ออกมาก่อน เพราะมีนัด นายอนุทิน กล่าวพร้อมระบุอีกว่า วันดังกล่าว ตนไปคุยกับหัวหน้าพรรคทั้งหลาย เพื่อติดตามสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ถึงเหตุการณ์เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปรับประทานอาหารเย็น เมื่อวันที่ 14 ส.ค.เป็นการไปรับประทานมาม่า ว่า ตนมองว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีของผู้ร้อง เพราะการที่นายทักษิณกล่าวเช่นนี้เท่ากับเป็นการยอมรับว่าแกนนำพรรคร่วมไปจริงๆ เมื่อนักการเมือง แกนนำพรรคการเมือง รัฐมนตรีที่ไป เท่ากับเป็นการยอมให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าไปครอบงำ ชี้นำ และนายทักษิณซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ดังนั้น ตนไม่แปลกใจกับคำพูดของนายทักษิณ เพราะเขาเป็นคนพูดเช่นนี้มาตลอด และตนเห็นว่ามันไม่ได้เป็นประโยชน์กับการที่ท่านบอกว่าไปกินมาม่า เพราะมันไม่เป็นเหตุผลใดๆ แต่มันจะยิ่งไปเข้าข้อกฎหมายว่าเป็นการครอบงำ ชี้นำ เมื่อถามว่า จะเป็นปัญหาสะท้อนมาที่รัฐบาลหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจ แต่เห็นว่าปัญหาประดังเข้ามาที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ค่อยมีสมาธิในหลายเรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายทักษิณอ้างไปกินมาม่า เป็นการสอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า มีการเสนอชื่อ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่สุดท้ายกลับมีการเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ทำให้ไม่ใช่การครอบงำ นายสนธิญา กล่าวว่า ตนมองว่าเนื้อในของการหารือไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องการให้รัฐบาลเป็นชุดเดิม และการไปของแกนนำพรรคการเมืองแต่ละพรรคเท่ากับเป็นการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เข้าข่ายครอบงำ ชี้นำ ถ้าไม่เช่นนั้นใครจะเข้าไปได้ ไปกินมาม่าทำไมตอนตีหนึ่งตีสอง ร้านข้าวต้มข้างทางก็มี สามารถกินได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า กรณีนี้เข้าทางฝ่ายค้านหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า เข้าทางผู้ร้องเรียนมากกว่า นอกจากนี้บางครั้งคำพูดของอดีตนายกฯ ก็มัดตัวท่านเอง ทำให้ตนรู้สึกเห็นใจนายกฯ คนปัจจุบัน และรัฐบาลชุดนี้ เพราะบางครั้งหากไม่มีประเด็นหรือคำพูด หรือหากอดีตนายกฯ หยุดพูดเสียบ้าง รัฐบาลเองก็พูดน้อยๆ แล้วทำงานไปก็จะดีกว่า เมื่อถามย้ำว่า การยอมรับว่าไปกินมาม่านั้นจะเป็นหมัดน็อกเพื่อไทยหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า ไม่หรอก แต่เป็นการยอมรับว่า เท่ากับไปจริงๆ เพราะหากนายทักษิณนั่งกินคนเดียวมันก็ไม่เป็นประเด็น
ด้าน นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เพราะก่อนที่จะให้ประชาชนลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 จะพบว่ารัฐบาลในขณะนั้นใช้ทุกองคาพยพของรัฐ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ข้าราชการทุกภาคส่วน ไปรณรงค์ให้ประชาชนรับรัฐธรรมนูญได้ฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมยัดข้อหาจับขังเรือนจำเป็นจำนวนมาก
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ที่อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงปราบได้จริงหรือแค่วาทกรรม เพราะการทุจริตยังคงมีอยู่ในขณะที่รัฐธรรมนูญห้ามฝ่ายการเมืองบริหารงบประมาณ การทุจริตก็ยังไม่ลดลง แล้วปราบโกงตรงไหน ต้องยอมรับการทำงานของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะอำนาจอยู่ในมือข้าราชการ การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลหากข้าราชการไม่เอานโยบายดังกล่าวก็ขับเคลื่อนไม่ได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าเป็นประชาธิปไตย ทุกวันนี้องค์กรอิสระสถาปนาเป็นอำนาจที่ 4 ของไทย มีอำนาจเหนือฝ่ายการเมือง ประเทศชาติขับเคลื่อนด้วยองค์กรอิสระ สามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้ ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ พร้อมกันนี้รัฐบาลควรเปิดเวทีสาธารณะทั่วประเทศเพื่อชี้แจง การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วยกันระดมความคิดเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของคนไทยทุกคน ดังนั้นประชาชนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศร่วมกัน จะเป็นการดีที่สุด อย่างไรก็ตามการแก้รัฐธรรมนูญก็ควรเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาอยู่ดี ส่วนพรรคเพื่อไทย ยืนยันหลายครั้งแล้วว่าสนับสนุนให้มีสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มายก ร่างรธน. โดยยกเว้นหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ นายสมคิด กล่าว