ไม่พลาด! “สนธิญา” ยื่นกกต. จี้ถอนชื่อ “ทนายตั้ม”พ้นบัญชีสำรอง สว. พร้อมไล่บี้สอบ “สว.นันทนา”

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหว เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้คัดชื่อนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" ออกจากบัญชีสำรองวุฒิสภากลุ่มที่ 17 อันดับที่ 4 เพราะมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(6) ประกอบ 96(3) เนื่องจากนายษิทรา ถูกดำเนินคดีและอยู่ระหว่างคุมขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาล ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครสว.หรือดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ และหลังจากนี้หากนายษิทรา หวังว่าจะกลับมาทำงานการเมืองอีก ก็ต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าว แต่ตอนนี้ตลอดชีวิตของนายษิทราไม่สามารถที่จะดำเนินการงานด้านการเมืองอะไรได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ขอให้ กกต. ตรวจสอบ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่เคยมอบโล่รับประกันความดีให้กับนายษิทรา เมื่อวันที่ 12 มี.ค.61 ที่มีการมอบโล่ศิษย์เก่าดีเด่นของวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยท่านได้มอบโล่ให้ทนายตั้ม โดยมีข้อความว่า "ครูภูมิใจในตัวเธอ" เพราะหากย้อนไป ก่อนการมอบโล่ปี 2558 นายษิทรา ก็มีปัญหาเกี่ยวเรื่องการว่าความให้เด็กอายุ 8 ขวบที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งถูกปืนลูกหลงจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นการมอบโล่รับรองคุณงามความดีที่ไม่ได้ตรวจสอบอย่างดีพอ เท่ากับเป็นการรับรองคุณภาพของบุคคลนั้นว่าเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์อย่างแท้จริง ทำให้สังคมและประชาชนเชื่อถือ และสิ่งที่ตามมาคือความเสียหายที่เกิดขึ้น

"จึงอยากให้ น.ส.นันทนา แสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าทำหน้าที่ สว.แล้ว ผ่านตำแหน่งตรงนั้นมาแล้ว ผมมองว่าไม่ใช่ แต่ต้องแสดงความคิดเห็นที่ให้ประชาชนสบายใจมากกว่านี้ในฐานะที่เป็นคนของประชาชนและทำหน้าที่สภาสูง พร้อมเรียกร้องไปถึงมหาวิทยาลัย ผ่าน กกต. ว่าจะรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างไร มองว่าเรื่องนี้คล้ายกับกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นเรื่องก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง" นายสนธิญา กล่าว

นายสนธิญา กล่าวว่า ตนไม่ได้หวังให้ น.ส.นันทนา ลาออกจากเรื่องนี้ เพราะตนมีเรื่องร้องเรียนกับ น.ส.นันทนา อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยต้องแสดงความขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่บอกว่าไม่ได้ตรวจสอบโดยละเอียดนั้นก่อนการมอบโล่นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุการณ์ในปี 2558 เป็นเรื่องที่สมควรรู้ ก่อนการพิจารณาคนหนึ่งคนใดให้ได้โล่เป็นการรับรองบุคคลนั้นว่ามีความสุจริตและซื่อสัตย์และเป็นไปตามเหตุผลที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่าทนายของฝั่งนายษิทราให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้(10 พ.ย. 67) ว่ามีข้อต่อสู้ที่ทำให้รอดคดี จะรอดจริงหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า ประเด็นนี้ ตนก็ถอยห่างมาแล้ว พร้อมส่ายหน้าและระบุว่า "ผมขอฝากถึงทนายหน่อย ถ้าผมเปิดเจอสัมภาษณ์ทนายที่ออกมาพูด ผมไม่ดูนะ เพราะทนายกลุ่มนี้คือกลุ่มเดียวกันกับที่ทำคดีของแตงโม จนกระทั่งถึงวันนี้ ผมถามว่าคดีแตงโมจับใครได้บ้าง"

นายสนธิญา กล่าวย้ำว่า คดีเหล่านี้ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ไม่ว่าทนายฝ่ายโจทก์หรือจำเลย หรือแม้กระทั่งอัยการ ผู้พิพากษา ที่ทนาย ความออกมาพูดให้สัมภาษณ์อย่างนั้นอย่างนี้ คือ การวิเคราะห์ทั้งหมด ทำให้สังคมไขว้เขว ตนคิดว่าถ้ามีบุคคลใดไปร้องเพื่อให้สภาทนาย ความวินิจฉัยว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นของทนายความแต่ละฝ่ายนั้นทำให้ประชาชนไขว้เขว ซึ่งนายกฯสภาทนายความน่าจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะแต่ละฝ่ายให้ข้อมูลตรงกัน ไม่ตรงกันทำให้สังคมไขว้เขว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรูปคดีด้วย โดยตนเชื่อมั่นในตำรวจที่ทำคดีนี้ โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่พูดกันตรงๆว่าใครขอไม่ได้ เรื่องสำคัญขนาดนี้ ถ้าเข้าสู่ตำรวจสอบสวนกลางถือว่าคนนั้นจบแล้ว

ประเด็นที่สองคือคนที่เข้ามารับผิดชอบในคดีนายษิทรา เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ทำงานมาแล้ว 30-40 ปี ผ่านคดีต่างๆมากมาย ทำให้ตนมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำงานโดยสุจริตและยุติธรรมทั้งสองฝ่าย

"ทนายความก็หยุดบ้างเถอะครับ อย่าออกมาเป็นรายวันเลย มาให้เหตุผลอย่างนู้นอย่างนี้ สารพัด สุดท้ายตำรวจก็จะส่งเรื่องให้อัยการ อัยการส่งเรื่องต่อไปให้ศาล ก็ว่ากันไป ถ้าวันนี้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปแล้วทนายความต่างๆไม่ต้องเสนอหน้ามากมาย ผมเข้าใจว่าทนายความต่างๆที่ออกมาก็เพื่อให้ตนมีชื่อเสียง และได้ลูกความมากขึ้น หลักและจรรยาบรรณของทนายความคือห้ามโฆษณา วิธีการก็คือทำได้อย่างเดียวในการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้" นายสนธิญา กล่าว