สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง กำลังระบาดรุนแรงในพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ เบื้องต้นพบการระบาดหลายอำเภอ รวมกว่า 73,000 ไร่ ส่งผลให้มันสำปะหลังที่ปลูกใหม่ชะงักการเจริญเติบโต อีกทั้งหัวมันที่กำลังเติบโตและกำลังสะสมแป้งใกล้ถึงอายุเก็บเกี่ยว ได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลงกว่า 80% ด้านเกษตรกร ชาวไร่มันเรียกร้องทางจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาด เพื่อรับเงินเยียวยาจากทางราชการ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่บ้านหนองกาว หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายชูเกียรติ นามวงศา ผู้ใหญ่บ้านหนองกาว พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลัง สำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ หลังจากพบว่าในฤดูกาลผลิตมันสำปะหลังปีนี้ มีการระบาดทั่วไป
นายชูเกียรติ นามวงศา ผู้ใหญ่บ้านหนองกาว กล่าวว่า ฤดูกาลผลิตมันสำปะหลังปีนี้ ได้รับแจ้งจากพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันในพื้นที่ ว่ามีการระบาดของโรคใบด่าง ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอำเภอและเกษตรอำเภอ ออกมาสำรวจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบว่ามีการระบาดอยู่ ส่งผลให้ต้นมันสำปะหลัง ทั้งในส่วนที่เพิ่งปลูกและแตกกิ่งใบ ชะงักการเจริญเติบโต และในส่วนที่กำลังสร้างราก สะสมแป้งสร้างหัวมัน ได้รับความเสียหาย คุณภาพแป้งต่ำ หัวมันมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ที่จะทำให้ผลผลิตกตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน
ด้านนางกองสิน ขวัญทับทิม อายุ 47 ปี เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังบ้านหนองกาว กล่าวว่า ตนมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 40 ไร่ ปลูกมันสำปะหลังหลายรุ่น ฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ พบว่ามีการเกิดโรคใบด่างระบาดรุนแรง ซึ่งไม่รู้ว่ามีสาเหตุจากอะไรแน่ ปีก่อนก็ได้ยินข่าวการเกิดโรคระบาดที่จังหวัดอื่น ตกมาปีนี้กลับมาเกิดการระบาดรุนแรงในพื้นที่และต่างอำเภอ จนไม่สามารถควบคุมได้
นางกองสินกล่าวอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ตนและเพื่อนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ให้ทำการถอนทำลาย เพิ่งตัดวงจรการระบาด แต่ก็คงจะถอนไม่ไหวและสายเกินไป เพราะมันสำปะหลังใกล้จะได้อายุเก็บผลผลิตแล้ว ทั้งนี้ เมื่อเกิดการระบาด และส่งผลเสียหายต่อแปลงมันสำปะหลังทั่วไป จึงอยากให้ทางจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโรคระบาด เพื่อที่จะได้รับการชดเชย พอมีเงินจ่ายค่าปุ๋ยและค่าแรงคนงานบ้าง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ว่า จากการเกิดโรคระบาดใบด่างในแปลงมันสำปะหลังดังกล่าว เกิดจากเชื้อไวรัส ที่ฝังตัวในท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง และมีแมลงหวี่ขาวเป็นพานะนำโรค ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงถึง 80% โดยในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ มีการรายงานพื้นที่ได้รับผลกระทบหลายอำเภอ เบื้องต้นประมาณ 73,487 ไร่ จากพื้นที่ที่เกษตรกรลงทะเบียนปลูกมันสำปะหลังประมาณ 528,879 ไร่ เกษตรกรกร 43,926 ราย
ทั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ได้รณรงค์ให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์พันธุ์อิทธิ 1, อิทธิ 2 และอิทธิ 3 ที่ทนทานต่อโรคใบด่างและให้ผลผลิตคุณภาพสูง ซึ่งกำลังจะขยายพื้นที่ให้การส่งเสริม โดยพื้นที่ 2 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2 ตัน เปอร์เซ็นต์แป้ง 2.4 ทีเดียว
สำหรับ ข้อมูลการปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2567-68 ทำการปลูกมากสุดที่ อ.หนองกุงศรี รองลงมามี อ.ท่าคันโท อ.ห้วยเม็ก อ.เมืองกาฬสินธุ์ และอ.ยางตลาด ขณะที่พบรายงานการระบาด มากสุดพื้นที่ อ.ห้วยเม็ก อ.สหัสขันธ์ อ.หนองกุงศรี อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ อ.สามชัย