เขื่อนเจ้าพระยาเตรียมลดระบายน้ำเหลือ 700 ลบ.ม./วินาที พื้นที่น้ำท่วมจะกลับสู่ภาวะปกติทั้งหมด ขณะที่ภาคใต้ต้องระวังฝนตกหนักช่วง 3 วันนี้ ส่วนเทศกาล “ลอยกระทง” คาดมีฝนเล็กน้อยทั้งทางอีสาน ตะวันออก และภาคกลาง แต่ไม่กระทบบรรยากาศเดินทางท่องเที่ยว  

วันที่ 11 พ.ย.67 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. รับทราบจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีนและชายฝั่งประเทศเวียดนามวันนี้และวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.67) และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ซึ่งพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าประเทศไทย 

ขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาสและปัตตานี ตั้งแต่วันนี้ (11 พ.ย.) ถึง 13 พฤศจิกายนนี้ ส่วนวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ช่วงวันลอยกระทง อาจมีฝนบ้างเล็กน้อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ไม่มีผลกระทบ ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวเทศกาลลอยกระทงได้ตามปกติ     

“วันนี้มวลอากาศเย็นเริ่มลดลงแล้ว หลังจากนี้อากาศจะอุ่นขึ้น อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น ส่วนร่องมรสุมยังคงพัดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ช่วงวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้จะมีฝนตก โดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยายังคงติดตามสถานการณ์พายุอย่างต่อเนื่อง แต่ยืนยันไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย หรือส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในระยะนี้”

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ย.) เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำมาอยู่ที่ 751 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./ว.) และมีแนวโน้มลดการระบายน้ำเหลือ 700 ลบ.ม./ว. คืนนี้หรือเช้าวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลับสู่ภาวะปกติทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ปัจจุบันยังมีพื้นที่น้ำท่วมใน 2 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี 4 อำเภอ และพระนครศรีอยุธยา 8 อำเภอ หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิต่างๆ มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยและจัดตั้งโรงทาน บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนเบื้องต้นแล้ว  

ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ตามมติ ครม. วันที่ 17 กันยายน 2567 และ 8 ตุลาคม 2567 ยังดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับเงินเยียวยาเร็วที่สุด ล่าสุด ปภ.ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินผ่าน PromptPay ให้ผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท แล้ว 21 ครั้ง 223,477 ครัวเรือน เป็นเงินรวม 2,011,241,000 บาท