จริงดั่งคำเขาว่า “นกไร้ขน คนไม่มีเพื่อน ขึ้นที่สูงไม่ได้” อันหมายถึงการก้าวขึ้นไปสู่จุดความสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มาช่วยเกื้อหนุน โดยถ้าเป็นนก ก็คือ ขนของมัน ส่วนคน หรือมนุษย์เรา ก็คือ เพื่อน หรือไม่ก็ทีมงาน คนรอบข้าง
เฉกเช่น “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นเคสสตัดดีกรณีตัวอย่าง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา2024 (พ.ศ. 2567) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ที่ผลปรากฏว่า สลัดสถานภาพจาก “อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ” พร้อมกับก้าวขึ้นสู่ “ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” คนต่อไป หลังคะแนนเลือกตั้งที่ออกมาว่า นายทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แห่งพรรครีพับลิกัน เอาชนะเหนือคู่แข่งอย่าง “นางกมลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ จากพรรเดโมแครต ไปอย่างขาดลอย
ด้วยคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กทอรัลโหวต 312 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสิ้น 538 เสียง อันถือได้ว่า ท่วมท้นเลยก็ว่าได้ แถมมิหนำซ้ำ เขายังชนะในพื้นที่รัฐสมรภูมิ หรือสวิงสเตท ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวน 7 รัฐด้วยกันได้ทั้งหมดแบบไม่ให้คู่แข่งเลยแม้แต่รัฐเดียว ขณะที่ รองประธานาธิบดีแฮร์ริส คู่แข่งได้ไปเพียง 226 เสียงเท่านั้น
และมิใช่เพียงนายทรัมป์ จะได้คะแนนเสียงจากอิเล็กทอรัลโหวตอย่างท่วมท้นเช่นนั้นแล้ว แต่ทว่า เขาก็ยังได้คะแนนเสียงในแบบป๊อปปูลาโหวตจำนวนมากถึง 74,650,754 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 50.5 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนรองประธานาธิบดีแฮร์ริสได้จำนวน 70,916,946 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 47.9
ก็ต้องนับว่า นายทรัมป์ ชนะเลือกตั้งจนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะชนะเลือกตั้งได้ทั้งในอิเล็กทอรัลโหวต และป๊อปปูลาโหวต ซึ่งแตกต่างจากชัยชนะของเขาที่มีต่อ “นางฮิลลารี คลินตัน” คู่แข่จากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) ที่นายทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะชนะในคะแนนของอิเล็กทอรัลโหวต แต่ได้จำนวนคะแนนป๊อปปูลาโหวตน้อยกว่านางคลินตัน ที่จำนวน 62,984,825 ต่อ 65,853,514 เสียง ห่างกันเกือบ 3 ล้านเสียง หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ ก็อยู่ที่จำนวนร้อยละ 46.1 ต่อ 48.2 ส่งผลให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายทรัมป์ในครั้งนั้น ดูจะไม่สง่างามสักเท่าไหร่ ไม่เหมือนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 นี้ ที่เขาชนะทั้งในอิเล็กทอรัลโหวต และป๊อปปูลาโหวต
ทั้งนี้ นายทรัมป์ ในวัย 78 ปี จะประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพื่อหวนคืนสู่ “ทำเนียบขาว” ในฐานะ “ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ”ในวันที่ 20 มกราคม 2025 (พ.ศ. 2568)
เบื้องหลังความสำเร็จของนายทรัมป์ ก็มาจาก “คนรอบข้าง” หรือ “ทีมงาน” ที่ช่วยให้เขาพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดหมายได้ดังหวัง นั่นเอง
โดยหนึ่งในบุคคลที่ต้องกล่าวถึง ก็คือ “นางซูซี ไวลส์” วัย 67 ปี ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของผู้จัดการคณะทำงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน
ทั้งนี้ นางไวลส์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการคณะทำงานฯ ดังกล่าว ร่วมกับ “นายคริส ลาซิวิตา”
กล่าวกันว่า หากนายทรัมป์ ขาดนางไวลส์ ในการทำศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หนนี้ ก็มีโอกาสที่จะพ่ายแพ้เลือกตั้งให้แก่รองประธานาธิบดีแฮร์ริสได้
เรียกว่า ขาดเธอ ก็ขาดใจ กันเลยทีเดียว เพราะด้วยคะแนนนิยมจากการสำรวจโพลล์ที่ออกมา ก็ต้องบอกว่า คู่คี่สูสีกันสุดประมาณ แถมบางสำนักโพลล์ก็ยังให้รองประธานาธิบดีแฮร์ริส มีคะแนนนิยมเหลื่อมนายทรัมป์ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจคะแนนนิยมในกลุ่มตัวอย่างที่ป๊อปปูลาโหวต และอิเล็กทอรัลโหวตในแต่ละรัฐ
ทว่า ด้วยกลยุทธ์การพลิกเกมส์ของนางไวลส์ ในฐานะที่เคยทำงานด้าน “ล็อบบี” มาตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 จนทำให้เธอเป็นนักล็อบบีระดับมือฉมัง ก็ทำให้นายทรัมป์ สามารถพลิกกลับมาชนะเหนือรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้อย่างแบบทิ้งห่างขาดลอย
แหล่งข่าวจากคณะทำงานรณรงค์หาเสียงของนายทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า นางไวลส์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากวงใน และวงนอก ด้วยประสิทธิภาพการทำงานของเธอ ในการวางแผนออกปฏิบัติการรณรงค์หาเสียงในแต่ละครั้ง ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเธอยังทำให้การรณรงค์หาเสียงเป็นไปอย่างมีระบบ และเป็นระเบียบ แตกต่างจากช่วงก่อนหน้าที่เธอจะเข้ามาทำงาน ซึ่งนางไวลส์ เข้าร่วมงานกับนายทรัมป์ หลังจากที่แยกตัวมาจากนายรอน ดิซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ซึ่งนายรอน ชนะเลือกตั้งจนได้เป็นผู้ว่าการรัฐ ก็ด้วยฝีไม้ลายมือของนางไวลส์ด้วยเช่นกัน
ใช่แต่เท่านั้น นางไวลส์ ก็หาใช่มือใหม่หัดขับ ในการทำงานด้านการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อช่วงทศวรรษนี้ไม่ แต่ทว่า เธอเคยทำงานด้านผู้จัดตารางกำหนดการต่างๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้ “นายโรนัลด์ เรแกน” จนได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 สมัย ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 มาแล้ว ซึ่งงานของเธอก็จะเป็นการกำหนดตารางงานรณรงค์หาเสียงในแต่ละวันให้แก่ทีมงานหาเสียงของประธานาธิดีเรแกน อันจะส่งผลให้การทำงานเป็นระบบ และมีระเบียบ ทำให้การรณรงค์หาเสียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ การเข้ามาทำงานให้แก่นายทรัมป์นั้น มีรายงานว่า นางไวลส์ ได้รับความไว้วางใจ และได้รับการนับถือจากนายทรัมป์เป็นอย่างมาก ซึ่งเธอได้ร่วมงานกับนายทรัมป์ มาตั้งแต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 (พ.ศ. 2559) แล้ว ในฐานะผู้จัดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่รัฐฟลอริดา จนทำให้นายทรัมป์ ชนะเลือกตั้งที่รัฐแห่งนี้ ก่อนขยับขึ้นมาเป็นผู้จัดการคณะทำงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายทรัมป์ในเวลาต่อมา พร้อมกับความเกรงใจที่มีให้ ถึงขนาดทำให้นายทรัมป์ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ แม้ว่าจะไม่พอใจอะไรต่อมิอะไรอย่างรุนแรงก็ตาม จนนายทรัมป์ ยกย่องให้เป็น “แม่หญิงน้ำแข็ง” ที่ทำให้สถานการณ์ต่างๆ เย็นลง พร้อมกันนี้ นางไวลส์ก็จะมีคำแนะนำต่างๆ ให้แก่นายทรัมป์ จนทำให้นายทรัมป์ ประสบความสำเร็จในหลายครั้งหลายครา
โดยนายทรัมป์ ได้กล่าวยกย่องนางไวลส์ บุตรสาวของ “แพท ซัมเมอเรล” นักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนานแห่งเอ็นเอฟแอลว่า มีความเข้มแข็ง ฉลาด สร้างสรรค์ เป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ก่อนว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่เลือกให้นางไวลส์ ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว” อันถือเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งงานเธอก็จะจัดระเบียบ วางระบบ การทำงานต่างๆ ในทำเนียบขาวแบบวันต่อวัน เพื่อให้งานต่างๆ ในทำเนียบประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกแห่งนี้ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ