"SCB EIC" วิเคราะห์ Trump 2.0 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

1.ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ   

โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 และจะกลับเข้าทำเนียบขาวได้อีกครั้ง ตามการคาดการณ์ของสำนักต่างๆในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นอกจากว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบขาดลอยได้คะแนนสูงกว่ารองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรค Democrats แล้ว พรรค Republicans ของทรัมป์ก็ยังครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกด้วย (Republicans Sweep)

ทรัมป์มีแนวนโยบายกีดกันการค้าที่จะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเน้นความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่าช่วยลดโลกร้อน นโยบายสำคัญที่ทรัมป์เคยกล่าวไว้ตอนหาเสียง เช่น (1) ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 60 pp. (percentage point) และสินค้าประเทศอื่น 10 pp. (2) กีดกันคนต่างชาติอพยพเข้าสหรัฐฯ โดยจะห้ามและขับไล่ผู้ข้ามแดนผิดกฎหมาย จำกัดการข้ามแดนถูกกฎหมาย และชะลอการอนุมัติวีซ่าเข้าสหรัฐฯ (3) ให้พันธมิตรสหรัฐฯ พึ่งพาตนเองด้านกำลังทหารมากขึ้น โดยจะลดเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ ในการป้องกันประเทศของยูเครน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ (4) เน้นความมั่นคงด้านพลังงานก่อนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะยังสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันต่อไป และ (5) ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลการคลังและต้องก่อหนี้มากขึ้น

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบ Republicans Sweep เช่นนี้ เอื้อให้ทรัมป์สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้เต็มที่ (แม้ในความเป็นจริง ทรัมป์อาจใช้นโยบายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับประเทศต่างๆ และอาจไม่ได้จะดำเนินนโยบายเหล่านี้ เต็มรูปแบบก็ตาม) ซึ่งจะส่งผลลบต่อประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และสร้างความไม่แน่นอนต่อโลกมากขึ้น

SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยอาศัยสมมติฐานชุดนโยบายของสหรัฐฯ ตามการวิเคราะห์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) รอบเดือน ต.ค. 2024 มาใช้ในการคำนวณผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าและการลงทุน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเตรียมความพร้อมในการ วางแผนรับมือกับผลกระทบและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์

 

2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

IMF (WEO Oct24) กำหนดสมมติฐานนโยบายทรัมป์ 2.0 และศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ผ่าน 5 ช่องทาง คือ

(1) นโยบายขึ้นภาษีนำเข้า : สหรัฐฯ ยุโรป และจีน เพิ่มภาษีนำเข้าระหว่างกัน 10 pp. และสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น 10 pp. โดยประเทศอื่นจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กลับอีกด้วย สินค้าที่ได้รับผลกระทบครอบคลุม 25% ของมูลค่าการค้าโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 6% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก โดยจะเริ่มส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่กลางปี 2025 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงรวม 0.3 pp. ในช่วงปี 2025-2030

(2) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก : นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศต่างๆจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โดยการลงทุนในสหรัฐฯ และยุโรปจะลดลงราว 4% เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายทรัมป์ชุดนี้ ขณะที่จีนและประเทศอื่นๆจะได้รับผลกระทบราวครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ สำหรับเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบทางลบตั้งแต่กลางปี 2025 และผลจะทยอยหมดไปในปี 2027

(3) นโยบายลดภาษี : สหรัฐฯ ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล หรือ Tax Cuts and Jobs Act (TCJA) ไปอีก 10 ปีจนถึงปี 2034 หลังมาตรการเดิมจะหมดอายุในช่วงกลางปี 2025 ซึ่งจะทำให้ภาษีเงินได้จากธุรกิจสหรัฐฯ ลดลงรวม 4% ของ GDP ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจโลกจะเป็นบวกรวม 0.1 pp. ในช่วงปี 2025-2030 ตามผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ แม้เศรษฐกิจประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบทางลบ เพราะสูญเสียความสามารถในการแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนโดยเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ

(4) นโยบายกีดกันผู้อพยพ : สหรัฐฯและยุโรปมีแนวโน้มกีดกันผู้อพยพมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2025 ส่งผลให้กำลังแรงงานสหรัฐฯ และยูโรโซนลดลง 1% และ 0.75% ภายในปี 2030 ตามลำดับ เนื่องจากผู้อพยพเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงที่ผ่านมา จึงส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกรวม 0.2 pp. ในช่วงปี 2025-2030

(5) ภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น : ภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นจากผลกระทบทางลบและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อและหนี้ภาครัฐของประเทศต่างๆที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนประเทศต่างๆสูงขึ้น โดย (1) Sovereign premiums ในตลาดเกิดใหม่ (ยกเว้นจีน) เพิ่มขึ้น 50 bps (basis point) (2) Corporate premiums เพิ่มขึ้น 50 bps ในจีนและประเทศพัฒนาแล้ว และเพิ่มขึ้น 100 bps ในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ และ (3) Term premiums เพิ่มขึ้น 40 bps ในสหรัฐฯ และ 25 bps ในยูโรโซน ทั้งนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะเป็นลบแต่ผลจะเริ่มทยอยหมดไปในปี 2028

จากผลศึกษาของ IMF ข้างต้น เศรษฐกิจโลกจะเริ่มได้รับผลลบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ตั้งแต่ปี 2025 หลังทยอยประกาศชุดนโยบาย เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเติบโตลดลง 0.8 pp. สำหรับปี 2026 จะลดลง 0.4 pp. แต่ในปี 2027 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้น 0.2 pp. เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายชุดนี้ ตามความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่ทยอยลดลงและปัจจัยฐานต่ำ หากพิจารณาผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางจะพบว่า ชุดนโยบายทรัมป์ 2.0 จะกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงรวม 0.4 pp. เทียบกับกรณีไม่มีนโยบายชุดนี้ โดย SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเป็นลบทั้งในปีหน้าและในระยะปานกลาง เนื่องจากโลกจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันและความผันผวนต่างๆที่เกิดขึ้นโดยตรง ขณะที่ผลบวกของนโยบายลดภาษี TCJA จะเกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเงินเฟ้อโลกยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าผลสุทธิระหว่างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานสูงขึ้น (+) และแรงกดดันอุปสงค์โลกชะลอตัว (-) 

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบสุทธิของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้ามีแนวโน้มเป็นลบ แต่นโยบายยังมีความไม่ชัดเจนสูง ขึ้นกับผลสุทธิของความแตกต่างของระยะเวลาและขนาดของการใช้นโยบายที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น นโยบายลดภาษี TCJA) และนโยบายที่จะเป็นผลลบเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ (เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า การกีดกันผู้อพยพ) รวมถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ อีกทั้งชุดนโยบายยังมีไม่ความไม่แน่นอนในด้านระยะเวลาอยู่บ้าง ในเบื้องต้นประเมินว่าโดยนโยบายเหล่านี้จะมีแนวโน้มเริ่มทยอยส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2025 อย่างไรก็ดี ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะปานกลางค่อนข้างชัดว่าจะเป็นลบ นอกจากนี้ชุดนโยบายทรัมป์จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้นจนอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าแนวโน้มเดิมที่เคยประเมินไว้ และส่งผลกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯเพิ่มเติม 

3.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ผ่านผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ 

การส่งออกสินค้า : นโยบายกีดกันการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นวงกว้างของสหรัฐฯที่กดดันการค้าโลกให้ชะลอลง ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกไทย จาก (1) สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยจะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นกำแพงภาษี และ (2) ภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปตลาดสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหา Overcapacity ของจีนที่ยังไม่คลี่คลายในปัจจุบัน ยิ่งทำให้จีนจำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน สินค้าจีนจึงมีแนวโน้มทะลักเข้ามาขายตลาดอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะไทย ส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้ผู้ผลิตไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น และยิ่งกดดันให้ภาคการผลิตไทยฟื้นช้า SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.8 - 1 pp. จากผลกระทบนโยบายกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น

การลงทุน : ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามนโยบายการค้าของทรัมป์ที่ยังไม่ชัดเจน อาจทำให้ภาวะการลงทุนซบเซาลง นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน ทำให้การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือเป็นไปได้ช้า รวมถึงความเสี่ยงกดดันการลงทุนจะมีมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ ที่ต้องการดึงการลงทุนกลับไปสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน SCB EIC ประเมินการลงทุนภาคเอกชนไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.4 – 0.5 pp. จากความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนโลกที่เพิ่มขึ้น

ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า ผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกดดันให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2025 ขยายตัวต่ำลงจากแนวโน้มเดิม สาเหตุหลักจากการส่งออกไทยถูกกดดันจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง และการลงทุนในไทยที่ยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติได้เต็มที่ โดย SCB EIC ได้ประเมินผลกระทบนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อเศรษฐกิจไทยผ่านแบบจำลองที่เชื่อมโยงผลกระทบเศรษฐกิจโลกตามผลศึกษาของ IMF (Oct24) สู่ช่องทางหลักของเศรษฐกิจไทย พบว่า การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา เศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.5 pp. เทียบกับแนวโน้มเดิมก่อนรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

แม้นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะการกีดกันการค้าและลงทุนจะกดดันให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวต่ำลง แต่ในระยะปานกลาง SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของนโยบายกีดกันระหว่างประเทศในมิติต่างๆจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น ไทยอาจได้รับประโยชน์ จากรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลงและหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น หากประเทศไทยสามารถรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกได้ อาจจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น (อ่านผลศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ SCB EIC In focus : คว้าโอกาสอุตสาหกรรมไทย ในวันที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) รุนแรงขึ้น) 

นโยบายของประเทศไทยในการเตรียมรับมือโลกที่กำลังแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นภายใต้ทรัมป์ 2.0 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนโยบายเร่งด่วนในระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันรุนแรงจากสินค้านำเข้าจากจีนที่จะเข้ามาตีตลาดไทยได้มากขึ้น และนโยบายรับมือในระยะยาวเพื่อเตรียมปรับตัวคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น

#SCBEIC #Trump #ข่าววันนี้ #สงครามการค้า #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์