วันที่ 11 พ.ย.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ว่า ปีนี้ กทม.ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันจัดงานลอยกระทงกว่า 140 จุด ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย กระจายไปในแม่น้ำลำคลอง สวนสาธารณะ พื้นที่เอกชนต่าง ๆ โดยแบ่งการลอยกระทงเป็น 3 แบบหลัก คือ 1.การลอยกระทงตามประเพณี ซึ่งมีแผนนำเสนอในระดับยูเนสโกในอนาคต เช่นเดียวกับประเพณีสงกรานต์ เพื่อย้ำความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงของไทยต่อไป โดยปีนี้ กทม.ตั้งเป้าลอยกระทงโฟมเป็นศูนย์ 2.ลอยกระทงออนไลน์ ในปีนี้ สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ทั้ง 34 แห่ง เปิดให้ลอยกระทงออนไลน์เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดขยะ โดยประชาชนสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ Greener.Bangkok.go.th เลือกกระทงที่ชอบและเขียนคำอธิษฐาน เพื่อลอยกระทงออนไลน์ในสวนฯ ที่ต้องการ ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ และร่วมกิจกรรมเกมเก็บกระทงสะสมคะแนนตั้งแต่วันที่ 15-17 พ.ย. เพื่อลุ้นของรางวัลรักษ์โลกจากสำนักสิ่งแวดล้อม
3.การลอยกระทงดิจิทัล จากการทดลองเมื่อปีที่แล้ว ได้รับความสนใจจนได้รับรางวัล Asia Pinnacle Awards สาขา Best Eco-Friendly Festival จากสมาคม IFEA (ASIA) ซึ่งเป็นรางวัลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปีนี้กำหนดจัดลอยกระทงดิจิทัล 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ที่ Skywalk สี่แยกปทุมวัน วันที่ 14-15 พ.ย. เวลา 18.00-23.00 น. 2.ที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง วันที่ 13-15 พ.ย. 3.ที่สวนสันติภาพ เขตราชเทวี บริเวณสระน้ำ หน้าคราวน์ เอเทรียม คิง เพาเวอร์ รางน้ำ วันที่ 15 พ.ย. เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป 4.ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 15 พ.ย. เวลา 17.00-23.30 น.
โดยปีนี้ กทม.จัดงานลอยกระทง ได้แก่ 1.ที่บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผมจนถึงศาลฎีกา วันที่ 15 พ.ย. เวลา 17.30-23.00 น. 2.ที่บริเวณคลองเปรมประชากร ลานอเนกประสงค์ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และวัดเสมียนนารี วันที่ 13-15 พ.ย. 3.ที่ไอคอนสยาม วันที่ 15 พ.ย. เวลา 15.00-24.00 น. โดย กทม.ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า และ 4.ในสวนสาธารณะใน กทม. 34 แห่ง ถึงเวลาเที่ยงคืน
นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางเปิดสวนสาธารณะสำหรับเทศกาลลอยกระทงปี 2567 ว่า ในปีนี้ กทม.เปิดพื้นที่สวนสาธารณะ 34 แห่ง ให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทงได้ถึงเวลา 24.00 น. ยกตัวอย่าง สวนเบญจกิติ สวนรถไฟ สวนจตุจักร ซึ่งมีบึงน้ำขนาดใหญ่ โดยการเปิดสวนสาธารณะทั้งหมด มุ่งหวังให้ประชาชนไปลอยกระทงในสวนฯ ใกล้บ้าน ลดการเดินทาง ลดมลพิษจราจร และลดอุบัติเหตุ
สำหรับเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม มีเรื่องสำคัญอยากสื่อสารและขอความร่วมมือประชาชน คือ ให้ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 100% งดใช้กระทงโฟมและกระทงขนมปัง รวมถึงกระทงที่ใช้วัสดุโลหะ เช่น เข็มหมุด ตะปู เครื่องเย็บกระดาษ (แม็ก) โดยเฉพาะในปีนี้ กทม.ตั้งเป้าลดการใช้กระทงโฟมเป็นศูนย์ มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เข้มข้น เนื่องจากวัสดุโฟมย่อสลายได้ยาก ใช้เวลานับร้อยปี ไม่สามารถนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ เผาทำลาย หรือทำปุ๋ยได้ เพราะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อมลพิษ
ส่วนกระทงขนมปัง จากการเปิดสวนสันติภาพ สำหรับเทศกาลลอยกระทงปี 2566 พบว่า มีประชาชนเข้ามาลอยกระทงกว่า 14,000 คน เจ้าหน้าที่เก็บกระทงได้ประมาณ 6,800 ใบ พบกระทงจากโฟมร้อยละ 3 หลังจากเจ้าหน้าที่เก็บกระทงในเวลา 00.00 น.-03.00 น. แล้วเสร็จ พบว่า ในเวลา 05.00 น. มีกลุ่มปลากินพืช เช่น ปลานิลและปลาตะเพียน ทยอยตายจากการขาดออกซิเจน รวมถึงกลุ่มปลาที่อาศัยดินก้นบึง เช่น ปลาช่อน ปลาดุก เริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากกระทงขนมปังตกตะกอนผสมกับดินก้นบ่อ นอกจากนี้ พบเต่าในบึงได้รับผลกระทบด้วย
จากการประสานสำนักการระบายน้ำเร่งสูบน้ำในบึงออก ย้ายปลาที่รอดชีวิตไปพักในบึงเล็กใกล้เคียง พบปลาตายนับพันตัว สาเหตุมาจากกระทงขนมปังที่ไม่สามารถนับจำนวนได้ เนื่องจากเปื่อยยุ่ยไปกับน้ำในบึงซึ่งเป็นแหล่งน้ำระบบปิด เจ้าหน้าที่ต้องสูบน้ำ ดูดเลนก้นบ่อ ทำการตากบ่อให้แห้ง เพื่อปรับระดับค่า PH ในดินให้เหมาะสำหรับการเติมน้ำใหม่ ใช้เวลาทั้งหมด 4 เดือน โดยกระทงขนมปังทำจากแป้ง น้ำตาล และไขมัน มีส่วนสำคัญทำให้แบคทีเรียในน้ำเติบโต ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจน (ละลาย) ในน้ำลดลง การฟื้นฟูจึงต้องจัดการถึงสภาพดินก้นบ่อ
ส่วนกระทงที่ประกอบด้วยวัสดุโลหะ หรือ เข็มหมุด ตะปู แม็กเย็บกระดาษ ขอความร่วมมืองดใช้ด้วย เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการจัดเก็บ และการคัดแยกไปทำปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นไม้และแจกจ่ายประชาชนต่อไป จึงขอเชิญชวนประชาชนเลือกใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน เช่น ไม้กลัดแทนเข็มหมุด เป็นต้น รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าใช้ธูปเทียนประดับกระทงให้น้อยลง เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และไม่จำหน่ายกระทงโฟมและกระทงขนมปัง
สำหรับแนวทางการจัดเก็บกระทง ในวันที่ 15 พ.ย. หลังเวลา 00.00 น. สำนักงานเขต สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม จะร่วมกันจัดเก็บกระทงให้แล้วเสร็จภายในเวลา 06.00 น. เพื่อรายงานประชาชนต่อไป
โดยสถิติปริมาณการจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2560-2566 ประกอบด้วย ปี 60 พบกระทงวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ โฟม 51,926 ใบ รวม 811,945 ใบ ปี 61 กระทงวัสดุธรรมชาติ 769,444 ใบ โฟม 44,883 ใบ รวม 841,327 ใบ ปี 62 กระทงวัสดุธรรมชาติ 483,264 ใบ โฟม 18,760 ใบ รวม 502,024 ใบ ปี 63 กระทงวัสดุธรรมชาติ 474,806 ใบ โฟม 17,731 ใบ รวม 492,537 ใบ ปี 64 กระทงวัสดุธรรมชาติ 388,954 ใบ โฟม 14,281 ใบ รวม 403,235 ใบ ปี 65 กระทงวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ โฟม 24,516 ใบ รวม 572,602 ใบ ปี 66 กระทงวัสดุธรรมชาติ 618,951 ใบ โฟม 20,877 ใบ รวม 639,828 ใบ