ในรอบ 10 ทีมสุดท้าย โครงการประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา จัดโดย ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ฉลองครบรอบ 10 ปี ภายใต้หัวข้อ 'การออกแบบนวัตกรรมพลังบวก เชื่อมต่อชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่า' ปรากฏรายชื่อทีมจากวิทยาลัยเทคนิคเขาวง จ.กาฬสินธุ์ นำเสนอนวัตกรรมโรงเรือนเพาะเลี้ยงและเร่งการเจริญเติบโตของไข่ผำแบบออร์แกนิกด้วยสเปกตรัม LED เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไข่ผำเชียงงาม ถือเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมที่ใช้ทุนไม่มาก แต่มีความน่าสนใจ สามารถเข้ารอบร่วมกับทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงเรียนอัสสัมชันธนบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งต่างคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
นางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน กล่าวว่า ในปีนี้ โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นให้ผลงานนวัตกรรมสร้างประโยชน์แก่ชุมชนได้จริงและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติที่กว้างขึ้น ตั้งแต่เปิดโครงการในเดือน ส.ค.67 มีสถานศึกษาทุกระดับจากทั่วประเทศส่งโครงงานสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวดถึง 235 ทีม คณะกรรมการได้คัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย ที่ได้เข้าร่วมฝึกอบรมทักษะการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่อไป
นายอเนชา โอบอ้อม อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคเขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า นวัตกรรมโรงเรือนเพาะเลี้ยงและเร่งการเจริญเติบโตของไข่ผำแบบออร์แกนิกด้วยสเปกตรัม LED ของทีมวิทยาลัยเทคนิคเขาวง จ.กาฬสินธุ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ทีมสุดท้ายจากทั่วประเทศ โดยแนวคิดของนวัตกรรมนี้คือ ไข่ผำเป็นพืชน้ำมีมาแต่โบราณ ลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีเขียวลอยน้ำ กลิ่นคล้ายชามัทฉะแต่อ่อนกว่า คนอีสานมักนำมาทำกับข้าว เช่น แกงอ่อม แกงคั่ว หรือบางคนนำไปทำไข่เจียว ไข่ผำนมสด จุดเด่นคือมีโปรตีนถึงร้อยละ 40 และประกอบด้วยวิตามินบี 12 หากนำมาประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย น่าจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาคือ การนำไข่ผำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากิน มักจะมีวัชพืชต่าง ๆ ติดมาด้วย คัดแยกได้ยาก จึงมีความคิดว่า หากเพาะเลี้ยงไข่ผำได้เอง จะทำให้การกินไข่ผำแพร่หลายมากขึ้น สะอาด ไม่ยุ่งยาก จึงเกิดเป็นนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงไข่ผำแบบออร์แกนิกด้วยสเปกตรัม LED
นายกลวัชร โคกลือชา นักเรียนระดับ ปวส.2 แผนกอิเล็กทรอนิกส์ จากทีมวิทยาลัยเขาวง อธิบายว่า นวัตกรรมนี้ใช้วิธีการเลี้ยงในระบบปิด วางระบบไฟทดแทนแสงอาทิตย์ และควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่ใช้เลี้ยงเฉลี่ย 25-28 องศาฯ ซึ่งระบบทั้งหมดควบคุมด้วยตู้คอนโทรลอัตโนมัติ (IOT) เช่น เมื่ออุณหภูมิผิดปกติระบบพัดลมถ่ายเทอากาศจะทำงานทันที รวมถึงการกำหนดปิดเปิดไฟปรับค่าแสงตามเวลากำหนด (7.00-19.00 น.) และส่งถ่ายข้อมูลการเลี้ยงผ่านระบบ iCloud ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถควบคุมระบบต่าง ๆ ของโรงเรือนผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว โดยโมเดลแรกเริ่มมีต้นทุนประมาณ 20,000 บาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจดลิขสิทธิ์ มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนแล้ว และพร้อมต่อยอดในเชิงธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมหากมีผู้สนใจ
โดยจุดเด่นของนวัตกรรมทีมตน คือสามารถนำไปเพาะเลี้ยงที่ไหนก็ได้ เพราะค่าแสงมีความคงที่ ทำให้ได้ไข่ผำที่สะอาด ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน เพราะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การออกแบบเน้นให้คนเข้าไปยุ่งน้อยที่สุด ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ราคาไข่ผำปัจจุบันแบบแห้งกิโลกรัมละ 5,000 บาท (ในฟาร์มใหญ่) ส่วนแถวชุมชนตนแบบสดกิโลกรัมละ 40 บาท แบบแห้งกิโลกรัมละ 500 บาท จากการตากแห้งไข่ผำสด 10 กิโลกรัม จะได้ไข่ผำแห้งประมาณ 3-4 ขีด ซึ่งถือเป็นพืชที่มีประโยชน์สูง สร้างรายได้ที่น่าสนใจ
“พวกเราเป็นสถานศึกษาเล็ก ๆ ไม่คิดว่าจะเข้ามาถึงรอบนี้ ต้องขอบคุณโครงการดี ๆ ที่เปิดโอกาสให้นำเสนอผลงาน ไม่ว่าทีมไหนจะได้แชมป์ การมาถึงจุดนี้ถือว่าทุกคนได้สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์แก่ชุมชน แก่ประชาชนแล้ว” นายกลวัชร กล่าว