"ดีเอสไอ" ส่งพนักงานสอบสวนเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ - ทัณฑสถานหญิงกลาง แจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่-พ.ร.บ.ขายตรงฯ 18 บอสดิไอคอน พร้อมเปิดขั้นตอนดีเอสไอแจ้งพฤติการณ์แห่งคดี สิทธิของผู้ต้องหา
กรณีพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีอาญากับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อ 18 บอสดิไอคอน และ 1 นิติบุคคล คือ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม) ในความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 20 โดยจะมีการเดินทางเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเเจ้งข้อกล่าวหาภายในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ย.67 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า สำหรับวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.67 เวลา 10.00 น. ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี การดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก จะเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา 18 ราย ได้แก่ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 20 นั้น ในส่วนของหัวหน้าทีมคณะพนักงานสอบสวน ประกอบด้วย 3 ผู้อำนวยการกองคดีของดีเอสไอ คือ ตนเอง , พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ นอกจากนั้นคือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของแต่ละกองคดี โดยตนเองและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสหญิง 7 ราย ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ในส่วนของ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูล เเละเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสชายทั้ง 11 ราย ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ทราบว่าในกรณีของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล จะเป็นความรับผิดชอบของ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค
พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการด้านในทั้งภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ดีเอสไอจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของเรือนจำฯ เช่น ทางเรือนจำ/ทัณฑสถาน จะจัดสถานที่รองรับ หรือจัดการรอบเข้าพบผู้ต้องขังแต่ละรายอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ สำหรับขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นในช่วงการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องขัง คือ ดีเอสไอจะทำการแจ้งข้อเท็จจริงในคดี แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 กฎหมาย แจ้งพฤติการณ์แห่งคดี เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบถึงสาเหตุที่พนักงานสอบสวนมองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ และเมื่อผู้ต้องหารับฟังข้อเท็จจริงจากพนักงานสอบสวนแล้ว ผู้ต้องหาจะรับสารภาพหรือไม่ หรือผู้ต้องหาจะปฏิเสธข้อหา หรือถ้าปฏิเสธแล้วจะขอทำคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือไม่ หรือจะยื่นบัญชีพยาน ถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
เมื่อถามถึงกรณีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ 18 บอสดิไอคอนฯ รวมถึงกรณีของมารดานักการเมืองท่านหนึ่งที่มีธุรกรรมทางการเงินเชื่อมโยงกับบอสพอลนั้น ได้มีการประสานงานเรื่องข้อมูลระหว่างดีเอสไอ และ บก.ปปป. หรือไม่ อย่างไร พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า ในส่วนของการตรวจสอบเรื่องธุรกรรมทางการเงิน เส้นทางการเงิน จะอยู่ในเลขคดีพิเศษที่ 115/2567 กรณีที่มีความผิดต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งจะอยู่ในความรับผิดชอบของกองคดีฟอกเงินทางอาญา แต่ถ้ากล่าวตามหลักการ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการส่งรายละเอียดดังกล่าวมายังดีเอสไอ ทางดีเอสไอก็จะดูสาระเนื้อหาก่อนว่ามีประเด็นใดบ้าง และมีพยานหลักฐานรายการใดบ้าง เมื่อดีเอสไอในฐานะรูปคณะทำงานได้ร่วมกันตรวจสอบกลั่นกรองเบื้องต้นแล้ว ทางอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ/รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้พิจารณาว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นในส่วนของคดีมูลฐาน อย่างคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีแชร์ลูกโซ่ดิไอคอนฯ หรือคดีพิเศษที่ 115/2567 กรณีฟอกเงินทางอาญา เพื่อให้มีข้อสั่งการไปยังกองคดีนั้น ๆ รับไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการสอบสวนเรื่องแชร์ลูกโซ่ คณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอจะมีการประชุมร่วมกันทุกวันศุกร์ของสัปดาห์เพื่ออัปเดตความคืบหน้าระหว่างกันว่าประเด็นที่ได้มีการมอบหมายไปนั้น ได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง